April 12, 2016

London Episode 11: Welcome Home, Captain Fox!

"เรียกผมว่า 'จีน' เถอะ 
ผมไม่ใช่ 'แจ็ก' ของพวกคุณ"

--------------------

มีกี่ครั้งที่เรารู้สึกอึดอัดกับ 'ป้าย' ที่คนเอามาแปะให้ กับ 'สมญา' ที่คนเอามาตั้งให้ กับ 'ชื่อ' ที่คนสรรหามาเรียก สำหรับบางคนอาจจะไม่เคยรู้สึกเลย บางคนอาจจะทำได้แค่ปล่อยผ่าน แต่กับบางคน การยอมรับชื่อที่ว่านั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการผูกยึดวิญญาณของตัวเองไว้กับร่างของคนอื่น จึงต้องยืนกรานปฏิเสธให้หนักแน่นเข้าไว้ ไม่ว่าคู่สนทนาจะรับฟังหรือไม่ก็ตาม


Welcome Home, Captain Fox! ถือเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ของทริปนี้ เพราะหนอไม่ได้ตั้งใจจะมาดูตั้งแต่แรก แต่เรื่องของเรื่องคือได้นัดกับน้องคนไทยคนหนึ่งไว้ว่าจะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แถวโรงแรมที่หนอพัก และน้องคนนั้นดันค้างคืนในลอนดอนต่อ ทำให้ต้องพามันไปทำอะไรสักอย่างในวันรุ่งขึ้นด้วย

"หนูอยากดูละครเวทีบ้าง ไปดูละครเวทีกันเถอะ" อีน้องพูดขึ้น อะ เราก็โอเคสิ ทางถนัด แต่ดูเรื่องอะไรดีวะ ตอนแรกเล็งมิวสิคัลไว้ (ซึ่งราคาก็มิวสิคัลมากไง เหมือนเอาตังค์ไปซื้อเครื่องดนตรีทั้งวง ไม่อยากบังคับใครมาเสียตังค์ร่วมกันขนาดนั้น เดี๋ยวจะเป็นเวรกรรมติดตามกันไปทุกภพชาติ) สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อตั๋ว จะโทรปรึกษามัน อีน้องก็ยังไม่ตื่น เพราะเมื่อคืนเมาหนัก

หนอเดินวนไปมาอยู่พักหนึ่งก็ตัดสินใจเดินเข้า Donmar Warehouse โรงละครขนาดเล็กที่รู้สึกถูกโฉลกตั้งแต่รอบแรกที่เดินผ่าน ตั้งแต่วันแรกที่เที่ยวลอนดอน (ตอนนั้นมาเดินหาร้านกาแฟ) บูทขายตั๋วเปิดทำการตั้งแต่ 10 โมง (ปิดวันอาทิตย์) คนขายตั๋วหล่อมาก (หล่อกว่าอีคนตรวจตั๋วที่ Gielgud นี่ขอจัดอันดับไว้ตรงนี้) ชะงักไปนิดหน่อย แต่ตั๋วก็ต้องซื้ออะเนอะ ก็เลยต้องเดินเข้าไปหานาง


เนื่องด้วยต้องซื้อตั๋วให้ได้ 3 ที่นั่ง จึงได้มาเป็นตั๋วแบบยืนตลอดการแสดงค่ะคุณผู้ชม! ไม่ฟิกซ์ที่ ใครดีใครได้ ประตูเปิดก็พุ่งตัวเข้าไปจองได้เลย แต่ก็โอเค ใบละ 7.50 ปอนด์ ราคาน่ารักมาก (และความพีกคือ สุดท้ายมีคนไม่มา หรือว่างอยู่ยังไงไม่ทราบ ตั๋วยืนทุกคนได้นั่งเฉยเลย สรุปคือจ่ายไปถูกสุดอะไรสุด เป็นราคาที่ไม่สามารถแม้แต่จะขอโหนผ้าม่านดู The Painkiller ด้วยซ้ำ แล้วนี่ยังได้นั่งด้วย คุ้มโคตร ๆ)

เข้าไปคนแรก เห็นเวทีเซตเป็นฉากแรกไว้แล้ว

Welcome Home, Captain Fox! ดัดแปลงมาจากละครเวทีฝรั่งเศสเรื่อง Le Voyageur Sans Bagage (นักเดินทางไร้สัมภาระ) ปี 1937 ซึ่งเคยถูกนำมาเล่นใน West End มาแล้วเมื่อปี 1959 และได้คืนชีพอีกครั้งในปีนี้ ภายใต้การกำกับของ บลานช์ แมคอินไทร์ (Blanche McIntyre) โดยได้ รอรี คีแนน (Rory Keenan) มารับบท จีน (Gene) หรือ Captain Fox ตัวเอกของเรื่อง

ฉากแรกเริ่มต้นขึ้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คนไข้ที่นั่งอยู่กลางห้องนั่นดูท่าจะบ้า เขาจำอะไรไม่ได้เลย เขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และที่แย่ก็คือเขาไม่อยากรู้แล้วด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร จากนั้นก็ตัดไปที่สามีภรรยานั่งปรึกษากันเรื่องการจัดให้ทหารที่สูญหายระหว่างสงครามโลกได้เจอกับครอบครัว ซึ่งก็มีหลายครอบครัวทีเดียว ที่มาลงทะเบียนเพื่อเข้าพบ "ทหารไร้อัตลักษณ์" ผู้นี้

ใช่แล้ว จีนคือทหารคนนั้น! แต่ในเมื่อเขาจำอะไรไม่ได้เลย แล้วจะกลับมาเป็นครอบครัวกับใครก็ตามที่อยากเข้าพบเขาได้ยังไงกันล่ะ?

เรื่องราวดำเนินไป โดยที่อัตลักษณ์ของ (ผู้ที่เคยเป็น) Captain Fox เผยออกมาทีละน้อย เขาเป็นชายหนุ่มคารมดีที่ได้ใจสาว ๆ ไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่แม่บ้าน และไม่เว้นแม้แต่พี่สะใภ้ด้วย! แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ก่อนที่เขาจะไปร่วมรบในสงครามโลก ก่อนที่ตัวตนนั้นจะสาบสูญไป ไม่เพียงแต่จากบันทึกการทหารเท่านั้น แต่จากความทรงจำของเจ้าตัวเองด้วย



ปมในเรื่องเหมือนจะมุ่งไปสู่เส้นชัยที่ว่า "จีนจะใช่สมาชิกครอบครัวฟอกซ์หรือไม่?" และสุดท้ายแล้ว "จีนจะเลือกเป็นลูกชายที่หายไปของครอบครัวไหนกันแน่?" (จาก 23 ครอบครัวที่ลงชื่อขอเจอตัว) แต่สิ่งสำคัญระหว่างการเดินทางสู่เส้นชัยนี้ แท้จริงแล้วกลับเป็นประโยคเดียวจากพ่อบ้านเก่าแก่ของครอบครัวฟอกซ์... 

"คุณครับ บางครั้งก่อนที่คุณจะได้ใช้ชีวิต คุณอาจต้องตายลงเสียก่อน" ซึ่งก็หมายถึงการตายจากสังคมหนึ่ง เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตใหม่ในอีกสังคมหนึ่งนั่นเอง

ที่จริงแล้วพ่อบ้านจะเล่าถึงการจัดงานศพจอมปลอมขึ้นมาของเพื่อน ๆ เขานั่นแหละ แต่ "การตาย" แบบนี้ก็ถือว่าเหมาะกับอีกหลายชีวิต ในอีกหลายบริบท

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อบ้านกลับถูกปรับใช้ได้อย่างดีกับเจ้านายผู้ไร้อัตลักษณ์ของเขา เพราะสุดท้ายแล้ว จีนก็เลือกที่จากตายจากความคาดหวังว่าเขาต้องเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" ที่หายไป เพื่อที่จะไปเริ่มต้นใหม่กับหนึ่งในครอบครัวที่ลงทะเบียนขอเจอตัว

ครอบครัวใหม่ที่จีนเลือกไม่ได้รู้จักกับทหารที่สูญหายไปครั้งนั้นโดยตรง แต่เป็นเพียงญาติห่าง ๆ ที่มีที่ดิน (ที่คาดว่าจะมีน้ำมันอยู่ข้างใต้ด้วย!) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และต้องการสมาชิกไปช่วยทำงานในฟาร์มเท่านั้น ไม่ได้ขอให้จดจำอะไรได้

ทำให้จีนไม่ต้องพยายามรำลึกความทรงจำใด ๆ ที่ไม่มีทางหวนคืนกลับมาสู่สมองของเขาได้อีกต่อไป เรื่องนี้จึงจบลงที่การมุ่งหน้าสู่ชีวิตใหม่ หลังจากที่ตัวเอกของเราบอกลาการเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" หรือ Captain Fox ไปตลอดกาล

ห้องนอนของ Captain Fox

--------------------

น่าแปลกที่ละครตลกร้ายเรื่องนี้กลับไม่ได้เฮฮาอย่างที่คิด ทั้งที่ผู้ชมก็ดูจะหัวเราะกันเสียงดัง หรือเพราะจริง ๆ แล้วมันเหมือนกับชีวิตของเรากันนะ? หรือเพราะเราทุกคนต่างก็เคยถูกเรียกชื่อหรือถูกคาดหวังให้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นมาเยอะ? หรือเพราะลึก ๆ แล้ว เราเองก็อยากละทิ้งตัวตนบางตัวตนให้ได้เหมือนกัน?

Welcome Home, Captain Fox! เล่นที่ Donmar Warehouse ถึงวันเสาร์ที่ 16 เมษายนนี้เท่านั้น

3 comments:

  1. เพราะลึกๆแล้วคนเราทุกคนก็อยากจะเป็นอีกคนแล้วทิ้งอะไรบางอย่างที่ทำให้เป็นเราทุกวันนี้ โดยหวังว่าชีวิตใหม่จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าที่เป็นมา

    ReplyDelete
    Replies
    1. บางทีอาจจะไม่คาดหวังว่าชีวิตใหม่ต้องดีขึ้นด้วยนะ ขอแค่ทิ้งชีวิตเก่าได้ก็พอ

      Delete
    2. ถูก แต่ชีวิตไม่ใช่กระดาษที่วาดภาพไม่สวยแล้วจะขยำทิ้งได้ตามชอบใจ

      Delete