April 18, 2016

London Episode 12: Emirates Stadium

วันนี้ลมแรงจัง 
พัดทีแทบล้มทั้งยืน 
นี่เรามาทำอะไรที่นี่วะ? 


หนอมาที่นี่เพราะ 1. หนอเชียร์อาร์เซนอล 2. พี่ชายหนอเชียร์อาร์เซนอล และ 3. หนอเคาะโลงบอกเพื่อนคนหนึ่ง (ในงานศพมัน) ว่าจะมาแวะที่นี่ให้ ที่ที่มันก็คงรู้สึกผูกพันไม่ต่างกับหนอ ในวันที่มันไม่มีโอกาสได้มาแล้ว

น่าแปลกเนอะ ที่คนเราจะรู้สึกผูกพันกับที่ที่ไม่ได้เกิดและเติบโต ทำไมความทรงจำมากมายถึงเกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลจากตัวเราเช่นนี้ หนอเชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายล้านคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เสียงหัวเราะและคราบน้ำตาทั่วโลกสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยไม่กี่อย่าง ภายในพื้นที่ไม่กี่ร้อยตารางเมตรแห่งนี้



วันก่อนที่หนอจะมานี่อาร์เซนอลเพิ่งตกรอบเอฟเอคัพ กร่อยชะมัด เอมิเรตส์สเตเดียมเลยให้อารมณ์พื้นที่รกร้างที่ถูกทิ้งขว้างโดยถ้วยแชมป์หลายรายการมาหลายสมัย ใกล้ ๆ ส่วนที่เป็นสนามแข่งมีพิพิธภัณฑ์อาร์เซนอลเปิดทำการแบบหงอย ๆ คนที่มาเยี่ยมเยือนไม่ค่อยสนใจส่วนนั้นเท่าไร อยากมาเซลฟีหน้าป้ายสนามเสียมากกว่า

การเดินจากสถานีอาร์เซนอลมายังส่วนที่เป็นสนามแข่งต้องผ่าน "สะพานลุงเคน" ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแด่ตำนานสโมสรอย่าง เคน ไฟรอาร์ (Ken Friar) ผู้ที่เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่อายุ 12 ในฐานะคนขายตั๋ว จนได้เป็นผู้บริหารในที่สุด เรียกว่าทำงานที่เดิมตลอด 60 กว่าปีเลยทีเดียว เจ๋งกว่านี้ไม่มีแล้ว


หนอเดินผ่านรูปปั้นลุงเคนเพื่อไปถ่ายรูปมุมต่าง ๆ ของสนาม ขณะเดียวกันนั้นก็พูดในใจว่า "มาให้แล้วนะแก" ไปตลอด มันจำเป็นมั้ยนะ แล้วไอ้ปัถย์จะรู้มั้ยว่าเราอยู่ตรงนี้

วันที่ปัถย์เสีย หนอไลน์คุยกับพ่อว่า "หนอส่งข้อความไปเมื่อวานว่าจะเที่ยวลอนดอน จะแวะสนามแทนมัน มันไม่ได้อ่านอะพ่อ..." พ่อตอบมาว่า "ฮื่อ คงบินไปเที่ยวเองแล้วล่ะ"

จริง ๆ คนตายแล้วคงไม่ได้ "คิวทาโร่" ขนาดนั้นหรอกมั้ง แต่ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะมาเองแล้ว ไม่ต้องรอให้หนอมาเที่ยวแทน

สำหรับคนที่อยากมาเที่ยวบ้างไม่ยากเลยค่ะ นั่งรถใต้ดินขึ้นที่สถานีอาร์เซนอล เดินต๊อกแต๊กอีกนิดเดียวถึงเลย เป็นย่านที่อยู่อาศัยเงียบสงบมาก (ยกเว้นวันที่มีแข่ง)

ส่วนคนที่จะมาดูบอล กะเวลาดี ๆ ดูเวลาด้วยว่าเวลาไหนสถานีไหนปิด ข้อมูลทั้งหมดหาอ่านได้จากเว็บไซต์สโมสรเลยค่ะ จะซื้อตั๋วเดินทัวร์หรืออะไรก็ทำให้เรียบร้อยล่วงหน้า หวังว่าแฟนบอลทุกคนที่มาจะเต็มอิ่มกับประสบการณ์ที่ได้รับนะคะ

หวังด้วยว่า... จะได้สักแชมป์ (ก็หวังต่อไปเนอะ)

Donmar Warehouse


It was my last weekend in London. Cold, cloudy Saturday - or maybe not that cold, but what do I know, I'm from the Equator zone. I strolled around Covent Garden to find some theater tickets. My friend was visiting London at the time and wanted me to take her to see a play. 

I was just a traveler after all. She, on the other hand, had been in the UK longer than I was, learning English in Guildford, Surrey. I was happy to escort her, though. I'm not complaining. The thing is I wasn't sure what kind of play she would enjoy. 

Knowing that she was hungover from the previous night, I couldn't call her to discuss. It was way to early. Well, it was 11 am, but still. You know what I mean. Your sense of time goes numb when you're hungover.

I decided to stop by the Donmar Warehouse on Earlham Street and see what play was on. I always felt like I had to be there, strangely. I knew I would want to be there. Have you ever looked up a building or a sign and felt like it welcomes you, and that it has long been waiting for you to visit? 

I know it sounds crazy, but that's exactly how I felt when I was standing there, in front of Donmar, that I was imaginarily well-greeted by the front door, the street, the atmosphere - by everything. 

It was a Saturday, the day of matinee shows, but it was quiet. Actually, the streets were all quiet as if no one wanted to leave home before noon. And therein I walked, and two tickets were acquired.

The play was called 'Welcome Home, Captain Fox!' and the two of us enjoyed it very much. It was an afternoon well-spent. It wasn't until much later that day, into the night, that I started to think about the message of the play.

The play was about this 'Captain Jack Fox' who went missing for 15 years after the war. When he was finally discovered and about to be handed over to his family, there was one simple problem. He had no memory what so ever. The family kept calling him 'Jack' but he insisted he was 'Gene'.

How many times do we feel uncomfortable with labels and names given by others? And to submit to those labels feels like tying your soul to other people's body. We are all 'Gene' at one point in life, I suppose.

The story wrapped with Gene deciding to 'die' in order to 'live'. To die from one society in order to start a new life elsewhere.

Don't we all want to be Gene at this point? To escape one world and leap forward to another. To abandon one identity and create something new and better.

It's amazing what one play can do to you. And this all happened because I chose to be at that place at that time. After the tiring process of getting a visa, after the red-eye flights with screaming babies on board, after all the walking and blisters and stuff, I made it to England. I made it to London. I made it to Donmar.

April 12, 2016

London Episode 11: Welcome Home, Captain Fox!

"เรียกผมว่า 'จีน' เถอะ 
ผมไม่ใช่ 'แจ็ก' ของพวกคุณ"

--------------------

มีกี่ครั้งที่เรารู้สึกอึดอัดกับ 'ป้าย' ที่คนเอามาแปะให้ กับ 'สมญา' ที่คนเอามาตั้งให้ กับ 'ชื่อ' ที่คนสรรหามาเรียก สำหรับบางคนอาจจะไม่เคยรู้สึกเลย บางคนอาจจะทำได้แค่ปล่อยผ่าน แต่กับบางคน การยอมรับชื่อที่ว่านั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการผูกยึดวิญญาณของตัวเองไว้กับร่างของคนอื่น จึงต้องยืนกรานปฏิเสธให้หนักแน่นเข้าไว้ ไม่ว่าคู่สนทนาจะรับฟังหรือไม่ก็ตาม


Welcome Home, Captain Fox! ถือเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ของทริปนี้ เพราะหนอไม่ได้ตั้งใจจะมาดูตั้งแต่แรก แต่เรื่องของเรื่องคือได้นัดกับน้องคนไทยคนหนึ่งไว้ว่าจะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แถวโรงแรมที่หนอพัก และน้องคนนั้นดันค้างคืนในลอนดอนต่อ ทำให้ต้องพามันไปทำอะไรสักอย่างในวันรุ่งขึ้นด้วย

"หนูอยากดูละครเวทีบ้าง ไปดูละครเวทีกันเถอะ" อีน้องพูดขึ้น อะ เราก็โอเคสิ ทางถนัด แต่ดูเรื่องอะไรดีวะ ตอนแรกเล็งมิวสิคัลไว้ (ซึ่งราคาก็มิวสิคัลมากไง เหมือนเอาตังค์ไปซื้อเครื่องดนตรีทั้งวง ไม่อยากบังคับใครมาเสียตังค์ร่วมกันขนาดนั้น เดี๋ยวจะเป็นเวรกรรมติดตามกันไปทุกภพชาติ) สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อตั๋ว จะโทรปรึกษามัน อีน้องก็ยังไม่ตื่น เพราะเมื่อคืนเมาหนัก

หนอเดินวนไปมาอยู่พักหนึ่งก็ตัดสินใจเดินเข้า Donmar Warehouse โรงละครขนาดเล็กที่รู้สึกถูกโฉลกตั้งแต่รอบแรกที่เดินผ่าน ตั้งแต่วันแรกที่เที่ยวลอนดอน (ตอนนั้นมาเดินหาร้านกาแฟ) บูทขายตั๋วเปิดทำการตั้งแต่ 10 โมง (ปิดวันอาทิตย์) คนขายตั๋วหล่อมาก (หล่อกว่าอีคนตรวจตั๋วที่ Gielgud นี่ขอจัดอันดับไว้ตรงนี้) ชะงักไปนิดหน่อย แต่ตั๋วก็ต้องซื้ออะเนอะ ก็เลยต้องเดินเข้าไปหานาง


เนื่องด้วยต้องซื้อตั๋วให้ได้ 3 ที่นั่ง จึงได้มาเป็นตั๋วแบบยืนตลอดการแสดงค่ะคุณผู้ชม! ไม่ฟิกซ์ที่ ใครดีใครได้ ประตูเปิดก็พุ่งตัวเข้าไปจองได้เลย แต่ก็โอเค ใบละ 7.50 ปอนด์ ราคาน่ารักมาก (และความพีกคือ สุดท้ายมีคนไม่มา หรือว่างอยู่ยังไงไม่ทราบ ตั๋วยืนทุกคนได้นั่งเฉยเลย สรุปคือจ่ายไปถูกสุดอะไรสุด เป็นราคาที่ไม่สามารถแม้แต่จะขอโหนผ้าม่านดู The Painkiller ด้วยซ้ำ แล้วนี่ยังได้นั่งด้วย คุ้มโคตร ๆ)

เข้าไปคนแรก เห็นเวทีเซตเป็นฉากแรกไว้แล้ว

Welcome Home, Captain Fox! ดัดแปลงมาจากละครเวทีฝรั่งเศสเรื่อง Le Voyageur Sans Bagage (นักเดินทางไร้สัมภาระ) ปี 1937 ซึ่งเคยถูกนำมาเล่นใน West End มาแล้วเมื่อปี 1959 และได้คืนชีพอีกครั้งในปีนี้ ภายใต้การกำกับของ บลานช์ แมคอินไทร์ (Blanche McIntyre) โดยได้ รอรี คีแนน (Rory Keenan) มารับบท จีน (Gene) หรือ Captain Fox ตัวเอกของเรื่อง

ฉากแรกเริ่มต้นขึ้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คนไข้ที่นั่งอยู่กลางห้องนั่นดูท่าจะบ้า เขาจำอะไรไม่ได้เลย เขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และที่แย่ก็คือเขาไม่อยากรู้แล้วด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร จากนั้นก็ตัดไปที่สามีภรรยานั่งปรึกษากันเรื่องการจัดให้ทหารที่สูญหายระหว่างสงครามโลกได้เจอกับครอบครัว ซึ่งก็มีหลายครอบครัวทีเดียว ที่มาลงทะเบียนเพื่อเข้าพบ "ทหารไร้อัตลักษณ์" ผู้นี้

ใช่แล้ว จีนคือทหารคนนั้น! แต่ในเมื่อเขาจำอะไรไม่ได้เลย แล้วจะกลับมาเป็นครอบครัวกับใครก็ตามที่อยากเข้าพบเขาได้ยังไงกันล่ะ?

เรื่องราวดำเนินไป โดยที่อัตลักษณ์ของ (ผู้ที่เคยเป็น) Captain Fox เผยออกมาทีละน้อย เขาเป็นชายหนุ่มคารมดีที่ได้ใจสาว ๆ ไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่แม่บ้าน และไม่เว้นแม้แต่พี่สะใภ้ด้วย! แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ก่อนที่เขาจะไปร่วมรบในสงครามโลก ก่อนที่ตัวตนนั้นจะสาบสูญไป ไม่เพียงแต่จากบันทึกการทหารเท่านั้น แต่จากความทรงจำของเจ้าตัวเองด้วย



ปมในเรื่องเหมือนจะมุ่งไปสู่เส้นชัยที่ว่า "จีนจะใช่สมาชิกครอบครัวฟอกซ์หรือไม่?" และสุดท้ายแล้ว "จีนจะเลือกเป็นลูกชายที่หายไปของครอบครัวไหนกันแน่?" (จาก 23 ครอบครัวที่ลงชื่อขอเจอตัว) แต่สิ่งสำคัญระหว่างการเดินทางสู่เส้นชัยนี้ แท้จริงแล้วกลับเป็นประโยคเดียวจากพ่อบ้านเก่าแก่ของครอบครัวฟอกซ์... 

"คุณครับ บางครั้งก่อนที่คุณจะได้ใช้ชีวิต คุณอาจต้องตายลงเสียก่อน" ซึ่งก็หมายถึงการตายจากสังคมหนึ่ง เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตใหม่ในอีกสังคมหนึ่งนั่นเอง

ที่จริงแล้วพ่อบ้านจะเล่าถึงการจัดงานศพจอมปลอมขึ้นมาของเพื่อน ๆ เขานั่นแหละ แต่ "การตาย" แบบนี้ก็ถือว่าเหมาะกับอีกหลายชีวิต ในอีกหลายบริบท

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อบ้านกลับถูกปรับใช้ได้อย่างดีกับเจ้านายผู้ไร้อัตลักษณ์ของเขา เพราะสุดท้ายแล้ว จีนก็เลือกที่จากตายจากความคาดหวังว่าเขาต้องเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" ที่หายไป เพื่อที่จะไปเริ่มต้นใหม่กับหนึ่งในครอบครัวที่ลงทะเบียนขอเจอตัว

ครอบครัวใหม่ที่จีนเลือกไม่ได้รู้จักกับทหารที่สูญหายไปครั้งนั้นโดยตรง แต่เป็นเพียงญาติห่าง ๆ ที่มีที่ดิน (ที่คาดว่าจะมีน้ำมันอยู่ข้างใต้ด้วย!) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และต้องการสมาชิกไปช่วยทำงานในฟาร์มเท่านั้น ไม่ได้ขอให้จดจำอะไรได้

ทำให้จีนไม่ต้องพยายามรำลึกความทรงจำใด ๆ ที่ไม่มีทางหวนคืนกลับมาสู่สมองของเขาได้อีกต่อไป เรื่องนี้จึงจบลงที่การมุ่งหน้าสู่ชีวิตใหม่ หลังจากที่ตัวเอกของเราบอกลาการเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" หรือ Captain Fox ไปตลอดกาล

ห้องนอนของ Captain Fox

--------------------

น่าแปลกที่ละครตลกร้ายเรื่องนี้กลับไม่ได้เฮฮาอย่างที่คิด ทั้งที่ผู้ชมก็ดูจะหัวเราะกันเสียงดัง หรือเพราะจริง ๆ แล้วมันเหมือนกับชีวิตของเรากันนะ? หรือเพราะเราทุกคนต่างก็เคยถูกเรียกชื่อหรือถูกคาดหวังให้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นมาเยอะ? หรือเพราะลึก ๆ แล้ว เราเองก็อยากละทิ้งตัวตนบางตัวตนให้ได้เหมือนกัน?

Welcome Home, Captain Fox! เล่นที่ Donmar Warehouse ถึงวันเสาร์ที่ 16 เมษายนนี้เท่านั้น

April 9, 2016

London Episode 10: The Painkiller

มีกี่คนที่จะกำกับตัวเองในหนัง/ละครได้?
และในจำนวนนั้น
มีกี่คนที่จะทำได้ดีจนเข้าชิงออสการ์?

คำตอบคือมีไม่กี่คนหรอก
ลอเรนซ์ โอลิวิเยร์
ชาร์ลี แชปลิน
ออร์สัน เวลส์
เควิน คอสต์เนอร์
โรแบร์โต เบนิญญี
เอ็ด แฮร์ริส
และเคนเนธ บรานาห์
(เป็นต้น)

และเคนเนธ บรานาห์ นี่เอง
ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้

The Painkiller (2016)

เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh) เป็นนักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และนักเขียนบทฝีมือเยี่ยม ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนการแสดงและถูกฝึกมาแบบคลาสสิก จนสามารถสร้างชื่อทั้งจากละครเวที ละครทีวี ละครวิทยุ และหนัง ซึ่งเมื่อเขาหันมากำกับและได้กำกับตัวเอง ก็มักเป็นผลงานจากงานเขียนของนักประพันธ์คนโปรดอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) 

สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ ผลงานของบรานาห์ที่น่าจะได้ผ่านตากันบ้างในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็เช่น Thor, Jack Ryan: Shadow Recruit (เรื่องนี้ร่วมเล่นด้วย) และ Cinderella

ในปีนี้ บรานาห์หันมาทุ่มเทกับงานละครเวทีเต็มที่ โดยได้เช่าโรงละคร Garrick Theatre ไว้ตลอดทั้งปี เพื่อผลิตละครเวที 6 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นหนอก็ได้ซื้อตั๋วไว้ด้วย ทำให้ได้เห็นบรานาห์ในบทบาทเบา ๆ ในละครเวทีชวนหัว The Painkiller

ถึงหน้าโรงเพิ่งรู้ว่าตั๋วเป็นรอบพิเศษ
รอบจริงอย่างทางการคือวันรุ่งขึ้น

The Painkiller ไม่ใช่บทละครใหม่ เพราะถูกดัดแปลงจาก Le Contrat (ปี 1969) ของฝรั่งเศสมาเป็นเวอร์ชันอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดย ฌอน โฟลีย์ (Sean Foley) ซึ่งที่เก๋คือ... นักแสดงนำตอนนั้นก็คือ 2 คนที่แสดงในเวอร์ชันล่าสุดนี่แหละ!

The Painkiller (2011)

เรื่องนี้บรานาห์รับบท "ราล์ฟ" มือปืนรับจ้างมาดเข้ม ที่ต้องมาอยู่ห้องติดกับ "ไบรอัน" ช่างภาพตกอับที่อยากฆ่าตัวตาย ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทั้งสองถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยไม่จำเป็น จนเรื่องราวเลยเถิดกลายเป็นความหรรษาที่ผู้ชมต้องอมยิ้มตามไปโดยไม่รู้ตัว

The Painkiller เป็นละครเวทีที่มีอยู่ฉากเดียว คือเป็นห้องโรงแรมอย่างนี้ทั้งเรื่อง ไม่เปลี่ยนการจัดวางใด ๆ มีแค่ตัวละครเดินเข้าเดินออก แต่ไดนามิกการเดินเข้าเดินออกนี้เองที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้านักแสดงไม่ลื่นไหลหรือเข้าขากันมากพอ ละครทั้งเรื่องจะไม่ "เวิร์ก" เลยแม้แต่น้อย

แต่แน่นอนว่าเป็นนักแสดงระดับนี้เล่นนี่นะ บรานาห์และร็อบ ไบรดอน เล่นเหมือนไม่ได้เล่นอยู่เลยอะ เป็นธรรมชาติมาก ดูเหมือนพวกนางไม่ต้องพยายามเป็นตัวละครเลยแม้แต่นิดเดียว เหมือนตื่นมาก็เป็นมือปืนเป็นช่างภาพกันอยู่แล้ว บรานาห์นี่ตลกไม่ตลกเปล่า มีตลกกายภาพปนมาด้วย บทเมายาเดินเปลี้ยเดินเป๋เธอใส่เต็มสุด ๆ เห็นแล้วเอ็นดู ฮ่า ๆ ๆ ๆ

สรุปให้เลยว่าใครที่อยู่ลอนดอน อยากดูละครเวที แต่กลัวไม่ "เก็ต" กลัวเข้าไม่ถึง ขอให้เลือกดูเรื่องนี้น่าจะดีสุด เพราะเนื้อเรื่องค่อนข้างเบาสบาย (แต่การแสดงหนักแน่นเปี่ยมคุณภาพ) ขำขันแบบเป็นสากล (คือคนชาติไหนดูก็ขำอะ) แล้วก็โปรดักชันเจ๋งแบบคุ้มค่าตั๋วทุกบาททุกสตางค์จริง ๆ ส่วนใครนั่งไกลกลัวไม่เห็นรายละเอียดบนเวทีชัด ๆ กลัวจะไม่คุ้ม เขาก็มีนี่...

กล้องส่องระยะไกล พร้อมให้บริการ

เอาจริง ๆ นะ... ซื้อตั๋วเพราะเป็นโปรดักชันของเคนเนธ บรานาห์ แค่นั้นเลย ชีวิตนี้ไม่นึกว่าจะได้เห็นนางตัวเป็น ๆ เดินผ่านไปมาตรงหน้า แล้วยิ่งมาได้ลุ้นได้ตลกไปกับทีมนักแสดงชั้นเซียนทั้งหมดนี้แล้วด้วย ยิ่งรู้สึกว่าลอนดอนและโรงละครย่าน West End นี่เป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ ดึงดูดผู้คนไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบจริง ๆ เพราะวันหน้า สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ก็จะมีละครเวทีเรื่องอื่นที่ผลัดเปลี่ยนกันมาให้ดูอีก ใครอยู่ลอนดอนหรือจะเที่ยวลอนดอน เชิญนะคะ หนอแนะนำ

The Painkiller เล่นถึงวันที่ 30 เมษายนนี้

April 5, 2016

London Episode 9: The Curious Incident of the Dog in the Night-Time

I'm going to take Further Maths next year. I'm going to pass it and get an A. And then in two years I'll take A-level physics and get an A. And then I'm going to go to university in another town. I can take Sandy and my books and my computer. I can live in a flat with a garden and a proper toilet. Then I'll get a First Class Honours Degree. Then I'll be a scientist. I can do these things.

I can because I went to London on my own.

I solved the mystery of Who Killed Wellington.

I found my mother. I was brave.

And I wrote a book.

Does that mean I can do anything?


Does that mean I can do anything?

ประโยคสุดท้ายของละครเวทีเรื่องนี้ตกค้างอยู่ในหัวหนอนานหลังจากที่ม่านปิดลง เหมือนเป็นหมัดน็อกปิดเกมที่พอเราฟื้นขึ้นมาก็ยังไม่รู้ว่าแพ้ได้ยังไง เหมือนประโยคตบหน้า เหมือนประโยคบอกเลิก เหมือนคนมาเขย่าตัวให้ตื่น เหมือนมีคนมาบอกว่า 'แกไม่ได้สวยหรอก แกแค่แต่งหน้าขึ้น' เหมือนอะไรสักอย่างที่รู้ว่าจริงแต่ไม่อยากฟัง เหมือนนั่งดูชีวิตตัวเองเล่นอยู่บนเวที ทั้งที่เราไม่เหมือนตัวละครตัวนั้นแม้แต่น้อย

หนอได้ยินชื่อ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time มานานแล้ว รู้ว่ามีละครเวที รู้ว่าเป็นละครเวทีที่ได้รับรางวัลมากมายและได้ฟีดแบ็กที่ดีเยี่ยมจากผู้ชม หนออ่านบทความเกี่ยวกับละครเวทีเรื่องนี้แบบผ่าน ๆ อยู่หลายครั้ง ไม่เคยใส่ใจว่ามันเกี่ยวกับอะไรแน่ จนกระทั่งเพื่อนสนิทแนะนำว่าเที่ยวลอนดอนคราวนี้ให้แวะดูละครเวทีเรื่องนี้ด้วย ไม่สิ ไม่ใช่การแนะนำ มันบอกหนอว่า 'แกต้องไปดูให้ได้ เราชอบเวอร์ชันหนังสือมาก'


หนังสือ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2003 เล่าเรื่องผ่านตัวละครชื่อ คริสโตเฟอร์ เด็กหนุ่มวัย 15 ที่มีอาการ 'ออทิสซึม สเปกตรัม' (ความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาท) พูดแบบให้เห็นภาพชัดหน่อยก็คือ คริสโตเฟอร์เป็นออทิสติกอ่อน ๆ นั่นเอง

เย็นวันนั้นหนอเดินทางอย่างไม่รีบร้อนเท่าไร เพราะโรงละคร Gielgud Theatre ตั้งอยู่ติดกับ Apollo Theatre ที่เพิ่งมาดู Nell Gwynn ไปเมื่อวันก่อน การมีโรงละครตั้งอยู่ติด ๆ กันบนถนนเดียวทำให้การสัญจรไปมาของผู้คนในช่วงเย็น ๆ ดูคึกคักเป็นพิเศษ


เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่หนอซื้อบัตรตรงระเบียงชั้นบน ซึ่งราคาถูกกว่า (เป็นตั๋วลดราคาด้วยนะ ยิ่งถูกเข้าไปอีก เรียกว่ามาดูแบบไม่พยายามเลย เขาให้มาดูก็มา ให้นั่งตรงไหนก็เอา) พอถึงเวลาก็เดินขึ้นไปชั้นที่นั่งแบบชิล ๆ ที่จะรู้สึกกิ๊วก๊าวอยู่บ้างก็คือ คนตรวจตั๋วหล่อ นอกนั้นก็ชิลแหละ

วิวจากที่นั่ง
(ระเบียงที่บังอยู่คือบังจริง ๆ  บังตลอดเวลา
มันถึงลดราคาไง ไม่มีใครอยากนั่งชะโงก ๆ ปะ)

The Curious Incident of the Dog in the Night-Time เปิดเรื่องมาที่ฉาก (ลองเดาซิ...) หมาตาย! เหมือนบนปกหนังสือหรือภาพโปรโมตที่เห็นกันนั่นแหละ หมาโดนสามง่ามทำสวนแทงตาย จากนั้นเจ้าของหมาก็โวยวาย กรีดร้องที่หมาตัวเองโดนฆ่า และกรีดร้องใส่เด็กบ้าที่เธอคิดว่าเป็นคนทำ


เด็กบ้าที่ว่าคือ คริสโตเฟอร์ ที่ก็สงสัยเรื่องการตายของหมา - เวลลิงตัน - ไม่แพ้เธอผู้เป็นเจ้าของ หลังจากที่เขาอธิบายกับตำรวจว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาก็มุ่งมั่นจะค้นหาความจริงต่อไป เริ่มต้นจากการสัมภาษณ์เพื่อนบ้านโดยรอบก่อน


ระหว่างการตามล่าหาความจริงของคริสโตเฟอร์ เส้นเรื่องที่ผุดขึ้นมาทับซ้อนกันก็คือ สถานะความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว พ่อที่เมามาย แม่ที่ตายไป และเพื่อนบ้านตัวละครลับที่เป็นเจ้าของร่วมของหมาที่ตาย เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน หรือความจริงแล้วแม่ไม่ได้ตาย แต่เธอแค่หายตัวไป แล้วเธอหายตัวไปไหนกันแน่?

ถึงจุดนี้ กลายเป็นว่าคริสโตเฟอร์จำเป็นต้องตามล่าหาความจริงมากกว่า 1 เรื่องเสียแล้ว และทั้งหมดจะไม่ยากเย็นเลย ถ้าเขาไม่ได้มีความผิดปกติทางการแสดงออกและการเข้าสังคมแบบนี้ แต่สิ่งที่เขาเป็นนั้น 'ผิดปกติ' จริงหรือ?


It's a novel about how you live with other people. 
It's about family. It's about love. 
It's about how you articulate love. 
It's about the importance of being honest. 
It's about the difficulty of truthfulness.

- Simon Stephens (Playwright)

นอกจากความจริงเรื่องหมาและความจริงเรื่องแม่แล้ว คริสโตเฟอร์ยังต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของตนเองด้วย ว่าแต่ทำไมชีวิตถึงต้องยากและซับซ้อนนัก ทำไมเราต้องเรียนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในวันนั้นวันนี้ ภายในปีนั้นปีนี้ แล้วเราทุกคนจะเป็นนักบินอวกาศกันได้ไหมนะ แล้วเราจะพาสัตว์เลี้ยงขึ้นไปเที่ยวด้วยได้หรือเปล่า?


ตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมจะได้มองเห็นโลกผ่านสายตาของคริสโตเฟอร์ - เด็กออทิสติก - แล้วเข้าใจว่าความจริงว่าเราและเขาก็ไม่ต่างกัน สิ่งที่คริสโตเฟอร์ตั้งคำถามคือสิ่งที่น่าสงสัยจริง ๆ แม้จะประหลาดไปบ้าง แต่มันก็น่าสงสัยจริง ๆ นี่นา แล้วทำไมผู้คนต้องมองคริสโตเฟอร์แปลก ๆ ด้วยเล่า? การถามคำถามที่ไม่เหมือนใครนั้นผิดด้วยหรือ?

ในเมื่อเราทุกคนล้วน 'ผิดปกติ'

ในเมื่อเราทุกคนล้วนเป็นคริสโตเฟอร์

ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

หรืออาจจะตลอดเวลาด้วยซ้ำ


สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time ก็คือ การใช้ร่างกายและการใช้พื้นที่บนเวทีของนักแสดงทุกคน ทั้งหมดถูกคำนวณและออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นละครเวทีประเภทที่หนออยากลงนั่งพับเพียบหมอบกราบไปตลอดการแสดงเลยทีเดียว มันสุดยอดมากจริง ๆ

บนเวทีแคบ ๆ ก็ขึ้นลงบันไดเลื่อนได้นะคุณ


It relates to lot of us all of the time, I think, 
we all spend many hours of our life feeling perplexed 
by why other people behaving 
in the way that they're behaving.

- Marianne Elliott (Director)


ที่สุดแล้ว เราทุกคนต่างก็วุ่นวายใจเพราะสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กออทิสติกหรือคนมีปัญหาอะไรหรอก ใคร ๆ ก็มีปัญหากับครอบครัวได้ ใคร ๆ ก็ไม่เข้าใจกันได้ ใคร ๆ ก็พูดแล้วเข้าใจไม่ตรงกันได้ ใคร ๆ ก็มีปัญหากับการขึ้นรถลงเรือและป้ายบอกทางได้เหมือน ๆ กัน

ในเมื่อเราทุกคนล้วน 'ปกติ'

ในเมื่อเราทุกคนล้วนเป็นคริสโตเฟอร์

ในเมื่อชีวิตเราทุกคนต่างมีขั้นมีตอน

เรียนจบ เข้ามหา'ลัย ทำงาน และตามความฝัน


เราทำทั้งหมดนี้สำเร็จแล้ว แปลว่าเราจะทำอะไรก็สำเร็จได้ใช่ไหม?

------------------------------

The Curious Incident of the Dog in the Night-Time มีกำหนดเล่นที่โรงละคร Gielgud Theatre ใกล้สถานี Piccadilly Circus ไปจนถึงต้นเดือนมกราคมปี 2017 เรตอายุผู้ชมอยู่ที่ 11+ ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 18 ปอนด์

April 4, 2016

London Episode 8: Nell Gwynn

"All the pleasure of the play was, 
the King and my Lady Castlemaine were there; 
and pretty witty Nell..."

- Samuel Pepys, 3 April 1665


เนลล์ กวินน์ มีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเป็นทั้งนักแสดงหญิงคนแรก ๆ ของประเทศ และเป็นชู้รักผู้เลื่องลือของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดนั่นก็ไม่ได้น่าสนใจเท่ากับที่นักแสดงผู้จะมารับบทเป็นเธอในโปรดักชันล่าสุดนี้คือ "เจ็มมา อาร์เทอร์ตัน" (Gemma Arterton) จากเรื่อง James Bond: Quantum of Solace, Clash of the Titans, Prince of Persia: the Sands of Time และ Hansel and Gretel: Witch Hunters

ก่อนหน้าที่ Nell Gywnn จะถูกนำมาเล่นที่ Apollo Theatre ในย่าน West End นี้ ก็เพิ่งเป็นละครเวทีภายใต้โปรดักชันและผู้กำกับเดียวกันที่ Shakespeare's Globe เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นนำแสดงโดยนักแสดงผิวสีอย่าง "กูกู เอ็มบาธา-รอว์" (Gugu Mbatha-Raw) จากเรื่อง Concussion

เจ็มมา อาร์เทอร์ตัน

กูกู เอ็มบาธา-รอว์

ถึงแม้จะเป็นเรื่องของคนที่เคยมีตัวตนอยู่จริง แต่ Nell Gwynn เป็นบทละครที่เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2013 โดย "เจสสิกา สเวล" (Jessica Swale) นักเขียนบทละครและผู้กำกับละครเวที ซึ่งรับหน้าที่กำกับโปรดักชันนี้ทั้งสองเวทีด้วย

ต่อให้ไม่รู้เนื้อเรื่องหรืออ่านรีวิวใด ๆ การที่ละครสักเรื่องจะได้ "ย้าย" (Transfer) จากโรงละครนอก West End มายัง West End นั้น ถือเป็นการการันตีความสำเร็จได้ระดับหนึ่งแล้ว ยิ่งมีนางเอกระดับเจ็มมา -- ที่จบจากสถาบันการแสดงชื่อดังอย่าง RADA และเฉิดฉายอยู่ในแวดวงละครเวทีอังกฤษก่อนจะข้ามฟากไปดังฝั่งฮอลลีวูด -- แล้วด้วย หนอนี่กดซื้อตั๋วแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเลย


การไม่อ่านรีวิวและการไม่คิดหน้าคิดหลังตอนซื้อตั๋วทำให้หนอไม่รู้ว่าละครเวทีเรื่องนี้เป็น... ละครตลก! ไม่ได้ตลกเฉย ๆ ด้วยนะ แต่เป็นตลกกึ่งมิวสิคัล เพราะพวกนางร้องเล่นเต้นระบำกันเต็มที่สุด ๆ แล้วผู้ชมก็ได้ฟังเสียงเพราะ ๆ ของเจ็มมาได้เต็มอิ่มสุด ๆ ด้วย

(ที่ว่าสถาบันการแสดงของที่นี่ฝึกให้นักเรียนใช้เสียงและร้องเพลงเป็นนี่คือมันฝึกให้ร้องจนเพราะได้ขนาดนี้เลยเหรอวะ? หรือคนพวกนี้ต้องเกิดมาพร้อมเนื้อเสียงที่ดีด้วย? บ้าจริง... เจ็มมานี่ทำอะไรก็ดีก็น่ารักไปหมดเลย)

ภาพจากตอนซ้อม

ภาพจากตอนซ้อม

ทั้งหมดนี่พอใส่วิก-ทำผม-แต่งหน้า-แต่งตัวแล้วลุคจะเปลี่ยนทันที

ภาพจากตอนแสดงจริง

ทุกเรื่องที่กล่าวถึงพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
มักไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเจ้าหมาพันธุ์ "คิง ชาร์ลส์ สแปเนียล" ด้วย

บทละครเรื่อง Nell Gwynn บอกเล่าถึงการขึ้นมาเป็นนักแสดงของเนลล์ หญิงที่มีชาติกำเนิดต่ำต้อย (สมัยนั้นมีแต่นักแสดงชาย - เล่นทั้งบทผู้ชาย/ผู้หญิง) จนได้พบกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และสุดท้ายพระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากไป ทำให้เธอหวนคืนสู่เวทีแสดงอีกครั้ง

โดยรวมแล้ว Nell Gwynn เป็นละครตลกที่ดูง่ายและมีองค์ประกอบที่กลมกล่อมลงตัว ทั้งเพลง ทั้งการแสดง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ถือเป็นละครที่ให้ความเพลิดเพลินกับผู้ชมได้ดีมาก ๆ น่าจะถูกใจทั้งคอ "เพลย์" และคอ "มิวสิคัล"

ล่าสุด ผู้กำกับของเรื่องก็เพิ่งรับรางวัลโอลิวิเยร์ (The Olivier Awards) อันทรงคุณค่า ในสาขา Best New Comedy ซึ่งก็มีการจัดงาน/มอบรางวัลกันอย่างยิ่งใหญ่ที่ The Royal Opera House เมื่อคืนนี้ (3 เมษายน)

เจสสิกา สเวล กับรางวัลโอลิวิเยร์ของเธอ

ขอแสดงความยินกับเจสสิกา
และนักแสดง/ทีมงานด้วยค่ะ

***** ยืนปรบมือยาว ๆ *****

April 2, 2016

London Episode 7: The Maids

"It's easy to be kind, and smiling, and sweet 
when you're beautiful and rich. 
But when you're only a maid? 
The best you can do is to give yourself airs 
while you're doing the cleaning or washing up."

--------------------

ท่ามกลางลิสต์ละครเวทีมากมายที่เล่นอยู่ในย่าน West End จะมีอยู่บางเรื่องที่ใช้นักแสดงชื่อดังเป็นจุดขาย แน่นอนว่าบทละครต้องดีพอจะดึงดูดผู้ชมอยู่แล้ว แต่การได้นักแสดงที่ผู้คนรู้จักจะยิ่งทำให้โปรดักชันนั้น ๆ โดดเด่นเป็นที่สนใจยิ่งขึ้น

สำหรับหนอ The Maids เป็นละครเวทีเรื่องนั้น และด้วยการกำกับของอัจฉริยบุคคลแห่งวงการละครเวทีอังกฤษอย่าง เจมี ลอยด์ (Jamie Lloyd) แล้ว มีแต่จะทำให้การแสดงของ อูโซ อาดูบา (Uzo Aduba) จาก Orange Is the New Black ทรงพลังขึ้นกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ เคยมีนักแสดงชื่อดังรับบทสาวใช้ใน The Maids มาแล้ว นั่นก็คือ "เจ้าป้า" เคต บลานเชตต์ (Cate Blanchett) ในโปรดักชันของออสเตรเลีย ที่คราวนั้นใช้นักแสดงผิวขาวล้วน แต่มาคราวนี้โปรดักชันของ The Jamie Lloyd Company เลือกที่จะใช้นักแสดงผิวสี 2 คน เป็นสาวใช้ ขณะที่บทเจ้านายตกเป็นของนักแสดงผิวขาวจาก Downton Abbey - ลอรา คาร์ไมเคิล (Laura Carmichael)

The Maids เป็นผลงานการเขียนบทของ ฌอง เชเนต์ (Jean Genet) ถูกนำมาเล่นครั้งแรกเมื่อปี 1947 และทำเป็นหนังเมื่อปี 1974 ซึ่งความเข้มข้นอยู่ตรงที่ทั้งเรื่องมีตัวละครแค่ 3 ตัว และในโปรดักชันล่าสุดนี้ การทำเวทีให้เปิดโล่ง 360 องศา ไม่มีม่านปิดกั้นใด ๆ ระหว่างผู้เล่นและผู้ชม ก็ยิ่งทำให้ The Maids เวอร์ชันนี้น่าสนใจขึ้นไปอีก


Trafalgar Studios ตั้งอยู่บนถนน Whitehall ซึ่งแต่เดิมก็เคยใช้ชื่อโรงละครตามชื่อถนนด้วย (Whitehall Theatre) จนกระทั่งมาเปลี่ยนเมื่อปี 2004 หลังจากที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1930

โรงละครของที่นี่แบ่งออกเป็น Studio 1 (380 ที่นั่ง - เล็กมาก) และ Studio 2 (100 ที่นั่ง - เล็กยิ่งกว่า) ภายในแต่ละห้องมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ตอนเข้าไปนั่งรู้สึกอึดอัดกว่าปกติ แต่ก็ให้บรรยากาศอินดี้ไปอีกแบบ ยิ่งพอเห็นเวทีเปิดโล้นโล่งเตียนด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังจะได้ดูต้องมีความเปล่าเปลือยทางอารมณ์สูงมากแน่ ๆ ... ต้องดิบ ต้องถึงแก่น ต้องเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ อะไรงี้


The Maids เปิดเรื่องมาที่สาวใช้ทั้งสองกำลังเล่นบทบาทสมมุติขณะที่เจ้านายไม่อยู่บ้าน ซึ่งบทบาทสมมุติที่ว่านี่คือการนินทานั่นแหละ นินทาและแสดงความเกลียดชังและวางแผนฆ่าไปด้วยในที แต่การจะฆ่าคนคนหนึ่งมันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ? แล้วชีวิตมันย่ำแย่ขนาดไหนถึงต้องใช้การตายของใครสักคนเป็นทางออก?

บทสนทนาที่แหลมคมค่อย ๆ เผยถึงชีวิตของเธอทั้งคู่ รวมถึงลักษณะของเจ้านายสาวที่ยังไม่ปรากฏตัวในฉากด้วย ที่น่าสนใจมากคือ การที่ผู้ชมได้นั่งอยู่รอบเวที มองเห็นทุกอิริยาบถของนักแสดง ทำให้ทีมงานต้องซ่อน "พร็อพ" ไว้ใต้พื้นเวที แล้วให้นักแสดงค่อย ๆ เปิดพื้น-หยิบพร็อพ-เก็บพร็อพกันอย่างแนบเนียนที่สุด ดูแล้วรู้สึกว่าการบล็อกกิ้ง (จัดวางตำแหน่ง) น่าจะยากกว่าการจำบทเสียอีก


ความหดหู่และกดดันเป็นสิ่งที่คาดหวังได้จากละครเวทีเรื่องนี้ คือดูแล้วรู้สึกเหมือนจะขาดอากาศหายใจอยู่บ่อยครั้ง ไม่แนะนำให้ดูมากกว่าหนึ่งครั้ง ชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการรับรู้ความรู้สึกแบบนี้บ่อย ๆ

อย่างไรก็ดี The Maids มีจุดเด่นตรงการบอกเล่าอย่างมีศิลปะ การออกแบบเวที และการจัดแสงได้อย่างยอดเยี่ยม เหนือสิ่งอื่นใด อูโซ อาดูบา และ ซอว์ แอชตัน (Zawe Ashton) เล่นฟาดกันไปมาได้แบบไม่มีใครยอมใคร รับส่งกันได้อย่างลงตัวสุด ๆ ทำให้แม้เนื้อเรื่องจะน่าอึดอัดขนาดไหน ก็ไม่สามารถละสายตาจากทั้งคู่ได้เลย




--------------------

"มันง่ายที่จะใจดี ยิ้มแย้ม และอ่อนหวาน
เมื่อคุณทั้งสวยและร่ำรวย
แต่เมื่อคุณเป็นแค่สาวใช้ล่ะ?
ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ก็คือปั้นหน้าเป็นผู้ดี
ระหว่างที่ปัดกวาดเช็ดถูให้เขานั่นแหละ"

เพื่อหลีกหนีจากชีวิตที่สุดจะทนนี้
พวกเธอจะลงทุนฆ่าเจ้านายหรือไม่
ด้วยวิธีไหน ลงมือเมื่อไร
แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ

--------------------

The Maids แสดงถึงวันที่ 21 พฤษภาคมนี้เท่านั้น

April 1, 2016

London Episode 6: The Lion King

Nants ingonyama bakithi Ba-ba
Sithi hu ingonyama

คือเนื้อร้องของเพลงประกอบ
หนังเรื่องแรกที่หนอดูซ้ำ

ขอแม่ดูพากย์ไทย
ขอดูทุกเวอร์ชัน

จะให้ไปโรงเพชรรามา
โรงฉายควบที่ไหนก็ได้


ทีนี้ มาดูเวอร์ชั่นล่าสุดที่หนอได้กันบ้าง


ใช่แล้ว นี่คือละครเวที (มิวสิคัล) The Lion King

--------------------

วันนั้นเป็นวันเสาร์ ละครเวทีส่วนใหญ่มีเล่นกัน 2 รอบ เลยตั้งใจไว้ว่าต้องเก็บให้ได้ 2 เรื่องในวันเดียว จะไปทั้งทีต้องเอาให้คุ้ม

บ่ายวันเสาร์แรกของทริปนี้จึงเป็นเวลาของเรื่องต่อไปนี้... ละครเวทีเรื่องที่สองที่หนอได้ดูที่ West End... จากหนังเรื่องแรกที่เด็กคนหนึ่งเคยชอบจนไม่รู้จะชอบยังไงได้อีก...

ซื้อเทปเพลงประกอบมาฟังจนเทปยานแล้วยานอีก... ฉาก Can you feel the love tonight ก็จิ้นพระนางจนเขินแล้วเขินอีก... (ไม่ใช่รุ่นเราไม่เข้าใจหรอก... จริง ๆ นะ...)


Lyceum Theatre (เดิม) สร้างขึ้นเมื่อปี 1765 (อ่านไม่ผิดหรอก - 251 ปีมาแล้ว) ก่อนจะขยับมาอยู่ตรงที่ตั้งปัจจุบันเมื่อปี 1834 (ก็นานมาแล้วอยู่ดี) เป็นโรงละครขนาด 2,000 ที่นั่ง ซึ่งได้กลายมาเป็นบ้านของ The Lion King ตั้งแต่ปี 1999

หนอเลือกซื้อตั๋วใกล้เวที แต่วิวจำกัด (Restricted View) คือจะโดนบังนั่นเอง ว่าง่าย ๆ จะเสาบัง เวทีบัง อะไรบังก็แล้วแต่ อยากประหยัดเงินต้องไม่บ่นเนอะ

ในเว็บไซต์ขึ้นวิวจากที่นั่งว่าเป็นอย่างนี้
แต่ความจริงเอียงกว่านี้มาก
เห็นแค่ขอบหน้าผานั่น

ละครรอบบ่ายเล่นเวลา 14.30 น. รับบัตรได้ชั่วโมง-สองชั่วโมงก่อนหน้านั้น เปิดให้ผู้ชมเข้าไปในโรงราว 14.00 น. จะเข้าไปซื้อขนม-เครื่องดื่มอะไรก็ตามสะดวก (ทุกโรงละครจะมีบาร์ขนม-เครื่องดื่มไว้รองรับ) คิวเข้าห้องน้ำมักจะยาวมาก ควรจะเตรียมตัวและเผื่อเวลาดี ๆ ต้องดูว่าเรื่องไหนมีพักครึ่ง ไม่มีพักครึ่ง (เรื่องที่ไม่มีพักครึ่งจะแจ้งในตั๋ว และ/หรือแจ้งหน้าโรง)


สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ ผู้ชม The Lion King ไม่ได้มีแค่เด็ก แต่กลับมีหมดทุกเพศทุกวัย คุณลุงคุณป้าควงคู่กันมาดูก็เยอะ ที่มาทั้งครอบครัวก็เยอะ (แต่กลับไม่มีเด็กร้องงอแง/โวยวายใด ๆ แม้แต่น้อย) จนโรงละครขนาดใหญ่ดูเล็กไปถนัดตา

พลังของนักแสดง ทั้งนักแสดงนำและตัวประกอบ ถือเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง/น่าประทับใจที่สุด หนอเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่เด็กเล็ก) ต้องได้ดูหนังเวอร์ชั่นแรกมาแล้ว ดูมากี่รอบกันก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่เห็นบนเวทีตรงหน้ากลับดูสดใหม่อยู่ตลอด ตรึงคนดูให้อยู่กับแต่ละฉากได้ดีเยี่ยม

การเต้นคอมเทมโพรารีดูจะเป็นวิธีสื่อสารหลักของนักแสดงต่อผู้ชม เราจะเห็นนักแสดงหน้าเดิม ๆ เปลี่ยนชุดเป็นตัวนั้นที ตัวนี้ที เดี๋ยวเป็นละมั่ง เดี๋ยวเป็นเสือ เดี๋ยวเป็นหญ้า (ไม่ได้โม้นะ นี่คืออยู่ใกล้จนเห็นหน้าคนที่เล่นเลยล่ะ)


พอถึงช่วงที่ซิมบา (ตัวเอก) โตเป็นผู้ใหญ่ ฉากแรกที่ตื่นตะลึงมากคือตอนที่นักแสดงเริ่มพูด เพราะเนื้อเสียงดีมาก ทั้งตอนที่ร้องเพลงและไม่ได้ร้องเพลง ทำให้คิดไปว่า นักแสดงตัวจริงคงต้องเป็นแบบนี้สินะ ไม่สิ นักแสดงที่ผ่าน "การฝึก" ของที่นี่ เป็นแบบนี้ทุกคน และนี่คืออีกเสน่ห์ของอังกฤษ... คุณภาพของนักแสดงน้อยใหญ่ (ดัง/ไม่ดัง)



นาลา ตัวเอกฝ่ายหญิง ก็เสียงเพราะไม่แพ้กัน เกิดเป็นความสมดุลระหว่างตัวละครแบบไม่ต้องพยายามมากมาย และทำให้ฉากที่ทั้งคู่ออกมาพร้อมกันน่าดูเป็นพิเศษ มาดูคลิปให้สัมภาษณ์ของเธอกันสักหน่อย...


ด้วยความที่นักแสดงทุกคนรับบทเป็นสิงสาราสัตว์ "การใช้ร่างกาย" จึงเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับ (หรือสำคัญมากกว่า) "การใช้พื้นที่เวที" จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเครื่องแต่งกายและวิธีเคลื่อนไหวร่ายกายของแต่ละตัวละครถูกออกแบบและคำนวณมาอย่างละเอียดจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม The Lion King ไม่ใช่มิวสิคัลที่จะดูซ้ำเรื่อย ๆ ได้เหมือนอีกหลายเรื่อง เพราะมีสิ่งที่เกิดขึ้นมาแรกสุดเป็นมาตรฐานค้ำคออยู่ การสร้างละครเวทีขึ้นตามหลังหนังที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่อุปสรรคโดยตรง แต่การสร้างละครเวทีขึ้นตามหลังหนัง "การ์ตูน" ที่ประสบความสำเร็จต่างหาก ที่ค่อนข้างเป็นปัญหา

การ์ตูนจะสร้างให้เหนือจริงยังไงก็ได้ และนั่นคือสิ่งที่ The Lion King ฉบับเล่นบนเวทีข้ามไม่พ้น ไม่ว่าโปรดักชันจะ "ว้าว" แค่ไหนก็ตาม แต่ก็นั่นล่ะนะ ถึงแม้จะสรุปได้อย่างนั้น หนอก็ยังอยากจะแนะนำให้คนที่มีโอกาสได้ไปดูสักครั้งอยู่ ไม่ว่าจะโปรดักชันไหนก็ตาม

เพราะความชอบในวัยเด็กมันวัดคุณค่ากันไม่ได้หรอก สิ่งที่ชอบก็คือชอบ สิ่งที่ต้องดูก็คือต้องดู จริงไหม?