December 2, 2016

ถึงคุณพยาบาล


เมื่อวานเป็นวันเอดส์โลกค่ะ และหนึ่งในข่าวที่ทั่วโลกรายงานถึงก็คือการพบกันของศิลปินดัง "ริอานนา" กับ "เจ้าชายแฮร์รี" ในบาร์เบโดส เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเป็นเอกราชของประเทศ และทั้งคู่ก็ได้รณรงค์ตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยการโชว์ตรวจเลือดให้สื่อมวลชนดูเสียเลย ซึ่งเจ้าชายเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งในอังกฤษ และจุดกระแสให้ผู้คนจำนวนมากไปตรวจเลือดบ้าง

ประเด็นที่หนอจะมาเขียนถึงวันนี้ก็คือการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีนี่แหละ หนอว่าจะมาเขียนนานแล้ว แต่ก็ติดโน่นติดนี่ จนฮึดอยากกลับมาเขียนก็วันนี้นี่แหละ

หลายปีมาแล้วหนอเคยสัมภาษณ์งานกับธนาคารหนึ่งและได้เรียกตัวเข้าทำงาน ซึ่งมีข้อแม้ว่าทุกคนต้องยื่นผลตรวจสุขภาพและผลตรวจเอดส์ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่หนอรู้ว่าไอ้ตรวจ 2 อย่างนี้มันแยกกัน ***คือแปลว่าตรวจธรรมดาจะเจอปริมาณไขมันกู แต่ไม่รู้ว่ากูเป็นเอดส์ งี้เหรอวะ?*** ก็ไม่อะไร ตรงไปโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นคนไข้ประจำที่นั่นอยู่แล้ว

ด้วยความเงอะงะ เพราะไม่เคยตรวจแผนกอื่นนอกจากแผนกผิวหนัง สุดท้ายก็เจอเคาน์เตอร์ที่ควรติดต่อจนได้ พอบอกพยาบาลว่า "มาตรวจเอดส์ค่ะ จะเอาไปยื่นที่ทำงาน..." เท่านั้นแหละ ก็โดนเบรกทันที "ไม่ต้องบอก ๆ ว่าจะเอาไปทำอะไร" คุณพยาบาลที่ดูมีอายุหน่อยยกมือห้าม ก่อนจะเดินไปจัดการให้ตามขั้นตอน

นั่นดูเป็นท่าทีที่ประหลาดสำหรับหนอนะ คือไอ้เรื่องความลับระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับผู้ป่วยเนี่ย มันคือรู้แต่ไม่ไปบอกคนอื่นไม่ใช่เหรอวะ? ไม่ใช่ว่าปฏิเสธที่จะรับรู้ ผู้ป่วยอยากพูดอะไรต้องพูดได้ดิ แล้วการตรวจหาเชื้อที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ จำเป็นหรือเปล่าที่บุคลากรยิ่งต้องทำตัว "ปกติ" และแน่นอนว่าต้อง "มีมารยาท" (ซึ่งนับวันดูจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในหลายวิชาชีพ ทั้งที่บางกรณีควรเป็น "สามัญสำนึก" ด้วยซ้ำ) ไม่แสดงอาการใด ๆ ที่อาจจะผลักไสหรือตราหน้าผู้รับบริการ

แล้วการตรวจก็ผ่านไป หนอไม่ได้มีไลฟ์สไตล์เข้าข่ายเสี่ยงอะไรอยู่แล้ว ก็เลยแค่รอชิล ๆ จนคุณพยาบาลคนเดิมเรียกไปรับผลนั่นแหละ (ขอพยาบาลคนอื่นได้ไหมวะ? -*-) เธอจัดแจงยื่นผลให้ และยื่นอีกมือมาจับมือหนอ "โถ ไม่เป็นไรแล้วนะ" ..........


#^&$%#*&*%$#@ [จงเติมคำสบถในหัวเอาเอง]

คือคุณพยาบาลนี่เป็นบ้าอะไร ทำไมต้องทำเหมือนคนที่มาตรวจเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ด้วย ถ้านี่คือมาตรฐานการดูแลคนไข้ปกติของโรงพยาบาลหรือของพยาบาลท่านนี้ ขอแนะนำให้เปลี่ยนด่วนเลยนะคะ

หนอว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการทำเหมือนทุกคน "ไม่เป็นเอดส์" จะดีกว่า คนเรามีเหตุผลมากมายให้ตรวจเลือดหาเอดส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่หลายองค์กรยังยืนยันที่จะให้ลูกจ้างเปิดเผยผลการตรวจเลือด (ซึ่งจริง ๆ ก็ขัดกับสิทธิเสรีภาพนะ แต่จุดนี้เราจะไม่พูดถึง) มันน่าตกใจมากที่โรงพยาบาลเอกชนอันดับต้น ๆ ของประเทศ (และแพงเป็นอันดับต้น ๆ ด้วย) มีบุคลากรที่เลือกใช้คำพูดที่ offend ผู้รับบริการแบบนี้

หนอว่านี่มาจากอคติและสเตอริโอไทป์ในใจของคุณพยาบาลเอง ว่าคนที่มาตรวจคือต้องไปทำอะไรสุ่มเสี่ยงมา ซึ่งนี่ถือเป็น "การตราหน้า" รูปแบบหนึ่ง (ไม่ต่างกับพนักงานร้านแบรนด์เนมทำเหมือนลูกค้าที่เดินเข้าร้านไม่มีเงินซื้อ) และนี่คือหนึ่งในเหตุผลให้คนไม่อยากไปตรวจเอดส์ ถ้ามองกันดี ๆ แล้ว จะสรุปว่า "บุคลากร" ในระบบสาธารณสุขเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพล้มเหลวนี่คงไม่ผิดนักนะคะ เพราะนอกจากคุณพยาบาลท่านนี้แล้ว หนอยังเคยเจอกรณีอื่น ๆ อีกมาก บอกเลยว่าสายวิชาชีพที่ดีไม่ได้ช่วยให้มีสามัญสำนึก มารยาท หรือหัวใจบริการเพิ่มขึ้นเลย

ถ้าหนอเป็นคุณพยาบาล หนอจะยื่นเอกสาร อ่านผล ยิ้มให้ แล้วเชิญให้ไปจ่ายเงิน แค่นั้น...


สุดท้ายนี้ หนออยากบอกว่าหนอสนับสนุนให้คนไปตรวจเลือดโดยสมัครใจ สนับสนุนโครงการลบล้างอคติต่อผู้ป่วยเอดส์/โครงการช่วยเหลือเด็กในพื้นที่เสี่ยงเอชไอวีในแอฟริกาของเจ้าชายแฮร์รี และสนับสนุนให้คนในทุก ๆ วิชาชีพ "ใส่ใจ" กับการแสดงออกของตนเองค่ะ

October 12, 2016

The King


Artist: Thanakim Thanomton
FB Page: Madcandy Studio
.........

August 2, 2016

#สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่


เมื่อวันก่อนหนอไปงานเปิดตัวหนังสือ "สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง" ของ "ครูทอม คำไทย" ที่งาน a book fair 2016 มาล่ะ แต่วันนี้ไม่ได้จะมาเชิญชวนให้ซื้อหนังสือนะคะ แค่จะมาเล่าให้ฟังว่าการไปร่วมงานครั้งนี้ทำให้ได้อะไรกลับมาคิดเยอะเลย

ครูทอม หรือ "อีครู" (เวลาที่หนอเรียกนางเป็นบุรุษที่ 3 เมื่อคุยกับคนอื่น) เป็นคนมีเพื่อนเยอะ และนิสัยหนึ่งของมันคือมักจะลากเพื่อนไปเจอเพื่อน คือไม่ว่าจะงานไหนเพื่อนมันจากหลากหลายกลุ่มแม่งจะสนิทกันไปเองน่ะ คือสุดท้ายไม่ต้องมีมันก็ได้ 555

งานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เพื่อน ๆ ครูทอมมารวมตัวเพื่อให้กำลังใจ และก็คงถือได้ว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะเสียงกรี๊ดของหน้าม้าอย่างพวกเรานี่ดังแบบไม่เกรงใจคนจัดงานเลยทีเดียว ประเด็นคือ... พวกเราแต่ละคนไม่ได้นัดกัน แต่มาเพราะครูทอมชวนมา (แบบตัวต่อตัว) ทั้งนั้น

มันน่าประหลาดใจดีนะที่ทุกคนมาเจอกัน ยกมือไหว้สวัสดีทักทายกัน พูดคุยสนิมสนม โดยที่ความจริงแล้วเส้นทางชีวิตไม่ได้คาบเกี่ยวกันเท่าไร สำหรับน้อง ๆ คนอื่นหนอคงพูดแทนไม่ได้ เพราะบางคนทำงานด้วยกันมา บางคนแข่งแฟนพันธุ์แท้มา แต่หนอคือไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้เลย รู้จักทุกคนเพราะ "อีครู" ล้วน ๆ เริ่มจากการไปงาน ไปดูหนังรอบสื่อ ไปช่วยงานระดมทุน แล้วครูทอมก็หยิบคนนั้นคนนี้มาแนะนำตัวใส่ จนมาวันนี้ ที่ทุกคนมางานนี้ แล้วก็เข้ามาทักทายกันเอง พูดคุยกัน กรี๊ดกร๊าดครูทอมกัน ทำให้หนอกลับบ้านมานึกว่า นี่นานเท่าไรแล้ววะ ที่รู้จักครูทอมมา และมีกี่คนแล้วที่กลายเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องที่สนิทสนมชอบพอนิสัยกันเพราะครูทอมเป็นคนแนะนำ นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี

สำหรับหนอ ซึ่งเป็น introvert มาตลอดชีวิต การเข้าสังคมและ "เจ๊าะแจ๊ะ" ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยธรรมชาติ (อาศัยการฝึกฝนมากพอสมควร ที่ทำให้ flow หน่อยก็คงเป็นอาชีพนักข่าว) แต่ครูทอมก็ทำให้การเจอคนใหม่ ๆ เป็นเรื่องง่ายเสมอ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่แค่คนที่ลากคนอื่น ๆ มาเจอกันเท่านั้น แต่มันจะ make sure ว่าแต่ละคนจะต่อบทสนทนากันไปได้โดยไม่มีมันด้วย และเพราะมันนึกถึงความรู้สึกคนอื่นอย่างนี้นี่เอง ที่พอมันมีงานแล้วคนอื่น ๆ ถึงได้นึกถึงความรู้สึกมัน แล้วออกมาสนับสนุนกันมากขนาดนี้



ไม่ได้จะอวยอะไรมากหรอก
แวะมาบอกแค่นี้แหละ

----------

"สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง"
มีวางขายแล้วตามร้านหนังสือทั่วไป

July 29, 2016

หัวหิน... ถิ่นมีเธอ at Searidge


ตั้งแต่โตมาและได้ไปเที่ยวทะเลนี่หนอก็คิดมาตลอดว่า "หัวหิน" คือที่ที่เอาไว้ไปเที่ยวทะเลเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้นอกจากการเล่นน้ำทะเลแล้ว คนที่ไปเที่ยวยังมีที่กิน/ดื่ม/ชิลใหม่ ๆ กระจายอยู่ทั่วหัวหิน และยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความนิยม แต่เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนหนอมีโอกาสได้ไปเที่ยวหัวหินแบบ "ไม่เล่นน้ำทะเล" เป็นครั้งแรก เลยถือเป็นประสบการณ์พิเศษที่อยากนำมาแชร์กับคุณผู้อ่านด้วย

ที่พักของหนออยู่ในส่วนที่ติดกับภูเขา และค่อนข้างไกลจากทะเล ข้อดีคือลมที่พัดผ่านให้ความสดชื่น ไม่เหนียวตัว เรียกว่าได้เปิดประตูเปิดหน้าต่างรับลมแบบไม่เกรงใจใครเลยทีเดียว (ประหยัดแอร์ลดโลกร้อนไปอีก 555) ภาพด้านบนที่เห็นนี่ไม่ผ่านฟิลเตอร์ใด ๆ เลยค่ะ จากระเบียงห้องพักของ Searidge Hua Hin by Salinrat ที่ตอนแรกจองไปเพราะรู้จักพี่เจ้าของอาคาร ตอนหลังถึงได้รู้ว่ามันมีดีจริง ๆ ถ้าวันหลังต้องไปก็จะเลือกจองที่นี่อีก

หนอว่าที่พักในหัวหินมีอยู่เยอะนะ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีห้องที่เหมาะสมกับกระเป๋าสตางค์และความต้องการของเรามากนัก บางทีอยากไปหลายคน นอนโรงแรมไม่ได้ จะค้างเป็นบ้านเป็นคอนโดก็ราคาต่อคนต่อคืนค่อนข้างสูง เรียกว่ามีข้อจำกัดเยอะนั่นล่ะ ซึ่งที่ Searidge ที่หนอไปนอนนี่ ลองถามถึงห้องหลาย ๆ ขนาดดูแล้วพบว่าราคาต่อคนต่อคืนตกอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท แถมมีรถ Shuttle พาไปส่งถึงย่านใจกลางความเจริญอย่าง Market Village ด้วย เหมาะจะหนีมาปลีกวิเวก-จำศีล-ปิดโทรศัพท์-ดับอีเมลเสียจริง ๆ

เปิดประตูเข้าไปเจอครัว-ห้องนั่งเล่น

ห้องพักที่นี่เป็นคอนโดค่ะ แต่ก็มีบริการจากส่วนกลางด้วยเหมือนกัน คือเป็นส่วนตัวระดับหนึ่งแหละ แต่ก็ยังเรียกพนักงานให้มาดูแล เติมโน่นนี่ ทำห้อง เปลี่ยนผ้าปูอะไรได้ ห้องที่หนอได้คราวนี้เป็นแบบ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เพิ่งตกแต่งใหม่เสร็จสรรพ ผนงผนังนี่ดูใหม่จนไม่กล้าไปทำเลอะเลย 555 จะน่าเป็นห่วงหน่อยก็ตรงที่มีแจกันและพร็อพวางไว้เยอะจนมนุษย์ซุ่มซ่ามอย่างหนอต้องระวังเป็นพิเศษ -- ห้องพักแบบนี้นอนได้ 4 คน โดยที่ห้องนอนหนึ่งจะเป็น Master Bedroom พร้อมห้องน้ำ En Suite ส่วนอีกห้องจะเป็นเตียงแยก และต้องออกมาเข้าห้องน้ำข้างนอก

ห้องนอน Master (รูปมืดไปหน่อย ขอโทษด้วยค่ะ -_-")

ห้องน้ำของห้องนอน Master
นอกจากพื้นที่อาบน้ำและโถสุขภัณฑ์แล้ว
ยังมีอ่างอาบน้ำไว้ให้แช่สบาย ๆ ด้วย

ห้องนอนที่สอง -- ไม่ Master แต่ก็ไม่คับแคบ

นอกจากจะห้องกว้างและวิวดีแล้วนะ ที่ชอบมาก ๆ คือมันมีครัวค่ะคุณผู้ชม! มีครัวและจานชามช้อนส้อมพร้อม มีไมโครเวฟ เครื่องชงกาแฟ เครื่องปิ้งขนมปัง ตู้ยงตู้เย็นก็มา อะไรที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันนี่มาหมด นี่คือที่ที่เหมาะสำหรับหนีเจ้านายมากบดานจริง ๆ 555 สะดวกสบายมาก และสำหรับคนที่อยากออกกำลังกาย ที่นี่ก็มีฟิตเนสและสระว่ายน้ำไว้พร้อมบริการด้วยล่ะ

สระว่ายน้ำใหญ่และสระเด็ก

สไลเดอร์ (ขนาดสำหรับผู้ใหญ่) พร้อมมาก!

ก็นั่นแหละ ไม่มีอะไรจะโฆษณามาก แต่อยากเชียร์ให้มาพักดู สไลเดอร์ขนาดสำหรับผู้ใหญ่นี่อยากยกกลับบ้านมาก ๆ อยากเก็บไว้เล่นคนเดียว 555 ใครที่เก็บกดจากการไปพักโรงแรมแล้วมันมีแต่สไลเดอร์ของเด็ก ขอให้มาที่นี่ คุณเอ๊ย ไม่มีใครแย่งแน่ ๆ เล่นวนไปค่ะ :)

สำหรับห้องที่หนอพักนี่ ราคาจะขึ้นลงตามฤดูกาลการท่องเที่ยว แต่จะอยู่ราว ๆ 3,2xx - 3,4xx บาท (คือสามพันต้น ๆ นั่นแหละ แล้วแต่โปรโมชั่นในแต่ละเดือนด้วย) ไม่เกินนี้ ถ้าสนใจก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก Searidge Hua Hin (by Salinrat) ที่นี่

ห้องนอนเล็ก (ห้องนอนที่สอง)

ห้องน้ำเล็ก (ห้องน้ำส่วนกลาง)

ชุดครัว (พื้นที่ส่วนกลาง)

ขอให้ทุกท่านใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์อย่างเต็มที่ค่ะ

May 17, 2016

London Episode 14: The Lady at McDonald's


หนอคิดอยู่นานพอสมควรว่าจะเขียนบล๊อกนี้ดีหรือเปล่า และถ้าเขียนจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะมันไม่มีแนวทางดี ๆ ที่จะบอกเล่าเรื่องนี้ได้เลย ทั้งที่มันก็ไม่ได้น่าอับอายหรือเป็นความลับขนาดนั้น เป็นแค่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันมากกว่า

เรื่องนี้เกิดขึ้นในวันแรก ๆ ที่หนอไปถึงลอนดอน ด้วยความที่อากาศเย็นและลมค่อนข้างแรง การรอคอยให้ละครเวทีเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่ทรมานพอดู โรงละครก็คับแคบ ไม่มีพื้นที่ให้แกร่วรอ แถมย่านนั้นยังไม่มีอะไรให้เดินเตร่อีกต่างหาก จะข้ามฝั่งไปย่านท่องเที่ยวก็ลำบากเพราะรองเท้ากัด คือไดเลมมาเยอะน่ะ เอาตรง ๆ

คิดกลับไปกลับมาอยู่นาน สุดท้ายก็เดินเข้าแมคโดนัลด์ รองท้องสักหน่อย ความพังอย่างแรกคือเดินเข้าไปแล้วพบว่าคนเยอะมาก คิวก็ยาว โต๊ะก็เต็ม แต่เอาวะ ต้องกินอะไรหน่อยแหละ สักพักคิวเริ่มไหลเร็วและหนอก็ได้โอกาสสั่ง แล้วความพังอย่างถัดมาก็เริ่มต้นขึ้น

"มีอะไรที่ไม่ใช่กาแฟและไม่ใช่น้ำอัดลมไหมคะ?" หนอถามไปด้วยสำเนียงอเมริกันแบบไม่ Native ซึ่งเท่าที่ผ่านก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดูทุกคนจะฟังรู้เรื่อง แต่... เธอคนนี้ เธอที่อยู่ตรงหน้าหนอนี้กลับชะงักและทำหน้าเหมือนสงสัยอะไระสักอย่าง

"มีเมนูเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟและไม่ใช่น้ำอัดลมไหมคะ?" หนอถามย้ำ เธอคนที่ว่ายังคงทำหน้างง ๆ แล้วตอบมาว่า "ฉันไม่เข้าใจที่คุณพูดเลย"

ด้วยความที่ไม่อยากให้คนข้างหลังต้องรอคิวนาน สัญชาตญาณการเอาตัวรอดสมัยอยู่เกาหลีกลับเข้าร่างทันที แทนที่หนอจะสั่งซ้ำเฉย ๆ หนอยกแขนขึ้นมาไขว้ X พร้อมพูดไปด้วย เพื่อให้คนฟังรู้ว่า "กาแฟ" เนี่ยไม่เอา "น้ำอัดลม" ก็ไม่เอา

ภาพรวมดูเหมือนคนบ้ามาก แต่เอาเถอะ สั่ง ๆ ไป ไม่ได้จะ "คีป-ลุค" หรือคิดว่าต้องดูดีอยู่แล้ว

"อ่าาา เยส" นางทำหน้าเหมือนเข้าใจ "วี แฮฟ คาปุชชีโน่... ลาทเท่..." (อันนี้คือพยายามสะกดตามเสียง ห้ามด่า) โอ๊ย ไม่ซี่ยยย์ (อันนี้คือคิดในใจ) "โน่ว โน่ว โน่ววว" หนอตอบกลับไปแบบเซ็ง ๆ

ระหว่างนั้นหูซ้ายก็ได้ยินชะนียุโรปตะวันออกสั่งอาหารด้วยสำเนียงที่ฟังยากยิ่งกว่า แต่กลับไม่มีปัญหาใด ๆ  โลกแม่งไม่ยุติธรรมว่ะ จุดนั้นไม่รู้ต้องทำสำเนียงยุโรปตะวันออกด้วยไหมถึงจะได้กิน

สุดท้ายคุณที่เคาน์เตอร์ก็ลากอีเพื่อนข้าง ๆ (ที่เพิ่งรับออเดอร์ต่างด้าวที่ว่านั้นแหละ) มาฟังหนอพูด ซึ่งหนอก็พูดประโยคเดิม แล้วนางก็เข้าใจทันที "เรามีมิลก์เชกและสมูธตีค่ะ" ก็แค่นั้นแหละ โธ่เอ๊ย "เอามิลก์เชกค่ะ สตรอว์เบอร์รีมีใช่ไหม?"

"มีค่ะ ได้ค่ะ มิลก์เชกสตรอว์เบอร์รี 1 ที่นะคะ" คุณพนักงานหมายเลข 2 กดออเดอร์อย่างคล่องแคล่ว ก่อนจะหันไปคุยกับในครัวแล้วหันมาบอกหนอว่า "คุณคะ นมหมดค่ะ เปลี่ยนเป็นสมูธตีได้ไหม?"

เออ เอามาเถอะวะ "ได้ค่ะ" หนอตอบไปแบบรำคาญ ๆ จากนั้นก็กระเถิบไปยืนด้านข้าง ให้คนข้างหลังสั่ง

พอคุณพนักงานทั้งสองหันไปจัดแจงอาหารด้านหลัง พนักงานหมายเลข 3 ก็เข้ามารับหน้าที่แทน คราวนี้เป็นผู้ชาย คนที่สั่งอาหารต่อจากหนอได้สั่งกับคนนี้ เธอมากับสามีและลูกเล็ก 1 คน เธอสั่งมิลก์เชก

เดาสิ... เดาว่ามีอะไรเกิดขึ้นต่อ...

เธอได้กินมิลก์เชกว่ะเฮ้ย

นี่พิมพ์มาถึงตรงนี้ไม่อยากเรียบเรียงอะไรมากมายแล้วนะ คือเป็นโมเมนต์ที่ว็อตเดอะฟัคมาก ยืนรอไปก็เบะปากไป ขี้เกียจจะทำอะไรกับเหตุการณ์นี้แล้ว ยอมแพ้จริงจัง

หนอรับอาหารมาแล้วรีบลงไปหาที่นั่งด้านล่าง โชคดีมากที่มีคนลุกไปพอดี ถึงได้มีที่ว่าง และเพราะเป็นโต๊ะใหญ่สำหรับ 4 คน คุณผู้หญิงที่สั่งมิลก์เชกแล้วได้กินจึงต้องมานั่งโต๊ะเดียวกันกับหนอ ลูกสาวเธอน่ารักมาก หนอรีบกินรีบไป เขาสามคนจะได้ใช้พื้นที่แบบสบาย ๆ

ขณะที่หนอกำลังลุกออกไป น้องคนนั้นวางของที่กินอยู่แล้วหันมาบ๊ายบายหนออย่างน่าเอ็นดู "บายยย" หนอตอบไปด้วยสำเนียงอเมริกันแบบไม่ Native ที่คุณผู้หญิงที่รับออเดอร์ฟังไม่รู้เรื่อง (แต่ดูเหมือนคนอื่น ๆ จะฟังรู้เรื่องหมด) พร้อมกับยิ้มกว้าง อย่างน้อยวันนี้ก็มีเรื่องให้ยิ้มล่ะว้า (เสียงในหัวหนอมองโลกในแง่ดีกว่าตัวตนที่แท้จริงของหนอมาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เถียงกันเองอยู่บ่อยครั้ง)

หนอเดินกลับโรงละครแบบไร้ความมั่นใจ ทั้งหมดนั่นมันคืออะไรกันแน่วะ ดวงไม่ดี เจอเจ้ากรรมนายเวร ก้าวเท้าออกจากห้องผิดข้าง หรือฮวงจุ้ยไม่ถูกโฉลก คือมันต้องลี้ลับประมาณนี้แหละ เพราะหนอหาเหตุผลที่ฟังขึ้นให้ตัวเองไม่ได้เลย

ในโรงละครทุกที่จะมีบาร์ ขายพวกขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม บาร์เหล่านี้จะเปิดก่อนละครเล่นราว  1 ชั่วโมง หนอเดินเข้าไปซื้อน้ำขวดหนึ่ง พอหันหลังกลับออกมาแล้วก็ตัดสินใจหันกลับไปถามพนักงานอีกรอบ "คุณ ๆ ... คุณเข้าใจที่ฉันพูดไหม?" ใช่ คำถามโง่มาก แต่ขอสักหน่อยเหอะ

"เข้าใจสิฮะ มีอะไรเหรอ?" คุณผู้ชายสำเนียงอเมริกันตอบ ส่วนคุณผู้หญิงชาวอังกฤษอีกคนยืนพยักหน้าอยู่ข้าง ๆ แบบงง ๆ

"แมคโดนัลด์ฝั่งตรงข้ามไม่เข้าใจที่ฉันพูดแหละ แย่จัง"

"โอ่ย แมคโดนัลด์ก็อย่างนี้ตลอดแหละฮะ เกิดกับลูกค้าทุกคน อย่าไปใส่ใจเลย อย่าให้เรื่องแย่ ๆ แบบนี้มาทำให้หงุดหงิด"

"อ้าว อย่างนั้นเหรอคะ ขอบคุณค่ะ" เป็นอย่างนี้ตลอดเลยเหรอ นี่คือปกติเหรอ แย่ว่ะ

หนอเดินออกจากบาร์มาแบบสับสนหน่อย ๆ ในเมืองที่มีความหลากหลายอย่างลอนดอนนี่... การทรีตลูกค้าแบบนี้มันกลายเป็นเรื่องปกติได้ด้วยเหรอ? นี่แมคโดนัลด์นะแก... ฉันไม่ได้พูดไม่รู้เรื่องด้วยนะแก...

คืนนั้นหนอดูละครเสร็จแล้วกลับห้องพักเลย หมดวันแล้วก็ควรนอน ๆ ให้มันจบ ๆ ไป รุ่งขึ้นอารมณ์ดีขึ้นแล้วก็คงหายกัน หรือไม่ ถึงตอนนั้นก็คงมีสติมากขึ้น

เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แหละ หนอตื่นขึ้นอาบน้ำแต่งตัวแล้วออกไปตะลุยพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเบาใจ จนกลับมาที่ห้องพักในตอนค่ำถึงได้ลองนั่งคิดทบทวนอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าควรจะทำอะไรสักอย่างไหม

ว่าแล้วหนอก็เข้าเว็บไซต์แมคโดนัลด์ยูเค กดร้องเรียน ย่อเรื่องราวทั้งหมดให้อยู่ภายในจำนวนอักษรที่เขากำหนดและกด "ส่ง" ด้วยความรู้สึกว่าไม่อยากให้ใครโดนแบบนี้อีก ถึงตอนนี้แมคโดนัลด์จะอ่านหรือไม่อ่าน จะสนใจหรือไม่สนใจ หนอไม่รับรู้แล้วล่ะ หนอทำส่วนที่คิดว่าควรทำไปหมดแล้ว

วันถัดมาหนอได้อีเมลยาวเหยียดจากผู้รับผิดชอบ นางขอโทษขอโพยเสียจนคนอ่านแทบรู้สึกผิดที่ดันไปร้องเรียน เธอคนที่ตอบนี่ย้ำหนักแน่นมากว่าต้องการส่งเวาเชอร์มาให้หนอที่โรงแรม ขอให้ระบุที่อยู่มาในอีเมลตอบกลับด้วย

หนอกดตอบกลับอีเมลฉบับนั้นอย่างรวดเร็ว แต่เนื้อความไม่ได้มีการระบุที่อยู่ใด ๆ ให้ หนอตอบไปแค่ว่าขอบคุณที่ใส่ใจกับคำร้องเรียน และหนอขอแค่ให้ลูกค้าคนอื่นไม่ต้องมาไม่รู้สึก "พร่อง" เหมือนหนอก็พอ

(เอาจริง ๆ ในคำร้องเรียนเขียนไปค่อนข้างหนักแหละ ระบุว่าปัญหาเป็นที่ตัวพนักงานคนแรกที่รับออเดอร์ นั่นคงเป็นเหตุผลหลักที่แมคโดนัลด์เห็นเป็นเรื่องร้ายแรง จนต้องร่ายยาวกันขนาดนี้)

ก็นั่นล่ะค่ะ เรื่องราวของคุณผู้หญิงในแมคโดนัลด์ ทั้งหมดนี้คือหนอต้องการจะบอกว่า อะไรที่รู้สึกว่าถูกล้ำเส้นก็แสดงออกมาเถอะนะคะ ในอุตสาหกรรมการบริการ ฟีดแบ็กลูกค้าถือว่าสำคัญมาก มีอะไรที่คาใจก็บอกให้ทางบริษัทที่รับผิดชอบรู้ หนอเชื่อว่ามันช่วยหลายคนได้ในระยะยาว อย่างในกรณีนี้ก็มาตรฐานการบริการของทางร้าน และอาจจะเซฟความรู้สึกลูกค้าคนอื่นในอนาคตได้ด้วย

นี่หนอคิดเอาเองนะ หนออาจจะคิดผิดก็ได้...

May 2, 2016

London Episode 13: The Lady at Empire Cinema


ลอนดอนเป็นเมืองที่การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และการเข้าชมละครเวทีเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งหรือยังไงไม่ทราบ แต่หนอรู้สึกว่าวิถีการดูหนังของเขาไม่ค่อย "เร้าใจ" เท่าที่เมืองไทย โรงก็น้อย รอบก็น้อย หนังก็น้อย

หลังจากที่ดู High-Rise รอบพิเศษไปที่ Picturehouse Central หนอตัดสินใจลองเดินสำรวจโรงหนังในละแวกเดียวกันดู เผื่อจะได้มีประสบการณ์ดูหนังในโรงบ้านเขาอีกเรื่องสองเรื่อง

สิ่งที่ประทับใจจากเมื่อตอนที่ดู High-Rise ก็คือ การส่ง QR Code มาทางอีเมลตั้งแต่ตอนที่จอง ซึ่งเราจะพิมพ์อีเมลออกมาเพื่อนำไปยืนยันหรือจะแค่โชว์ Code ในมือถือให้เขาดูก็ได้ และเมื่อไปถึงหน้าโรงแล้ว เราจะไปขอให้เขาปรินต์ตั๋วออกมาหรือโชว์มือถือให้พนักงานดูเฉย ๆ ก็ได้ ง่ายสุด ๆ สะดวกสุด ๆ ไม่ต้องต่อคิว ไม่ต้องยุ่งยาก ไม่เสียเวลาเท่าที่เมืองไทย

วันนั้นเป็นวันธรรมดา Leicester Square ดูเหงา ๆ เหมือนว่าจะมีแต่นักท่องเที่ยวมาเดินเล่น และแม้ว่าแถวนั้นจะมีโรงหนังอยู่หลายเครือ แต่ผู้คนก็เลือกที่จะเดินผ่านไปผ่านมาหรือนั่งพักดื่มอะไรร้อน ๆ ริมทางเสียมากกว่า

หนอเดินเข้าโรงหนัง Empire เพื่อไปสอบถามรอบฉายประจำวัน ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วนั้นมีพนักงานยืนอยู่ 1 คน เป็นผู้หญิงร่างสูงใหญ่ ผมสั้นสีบลอนด์ (อารมณ์ "เกวนโดลิน คริสตี" อะ) หน้าตาเธอเหมือนจะยิ้มแย้ม ไม่รู้สิ บางทีดูจากไกล ๆ ก็เดาไม่ถูกหรอกว่าคนคนหนึ่งจะพูดจาดีหรือเปล่า

ทันทีที่หนอก้าวพ้นประตู เธอคนนั้นกล่าวทักทายและยิ้มกว้างให้อย่างอารมณ์ดี ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เธอเพิ่งดื่มกาแฟเข้าไป เพื่อที่จะเริ่มต้นวันอย่างกระฉับกระเฉง "ไม่ดื่มกาแฟนี่ทำงานแทบไม่ได้เลยนะคะ" เธอพูดขึ้น "จริงค่ะ ยิ่งอากาศเย็น ๆ แบบนี้ด้วย ไม่อยากขยับไปไหนเลย" หนอตอบไป

เธอคนนั้นจัดว่าอัธยาศัยดีแบบผิดที่ผิดทางทีเดียว จะเป็นเพราะเธอดื่มกาแฟมามากเกินไปหรือเปล่านะ ลักษณะเธอคล้าย ๆ คนที่ได้รับคาเฟอีนเกินขนาดยังไงไม่รู้สิ เอาเป็นว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนอไม่เคยเจอพนักงานในอาชีพบริการในลอนดอนที่ดูกระตือรือร้นขนาดนี้

ระหว่างที่เธอชวนคุยสัพเพเหระ หนอสังเกตว่ามีเสียงหนุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งที่ยืนถัดไปทางประตูโรงด้านในดังขึ้นมาเป็นระยะ ๆ หนอไม่ได้หันไปดูว่าเป็นพนักงานที่นี่หรือเปล่า

แต่หลังจากนั้น ทุกจังหวะที่คุณผู้หญิงคนนี้เล่าอะไรให้หนอฟังแล้วทำมือทำไม้อลังการ จะมีเสียงหนุ่ม ๆ กลุ่มที่ว่านี้โห่ฮาขึ้นพร้อมกันไปด้วย แรก ๆ หนอคิดว่าเขาคงคุยกันเอง แต่พอเป็นอย่างนี้สัก 2-3 ครั้ง มันชักจะไม่ใช่แล้วไง นี่มันอารมณ์เดียวกับเด็กหลังห้องตะโกนแซวเด็กเนิร์ดแว่นหนาที่นั่งติดกระดานดำชัด ๆ

อย่างไรก็ตาม คุณคนที่คุยกับหนอนี่ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรกับเสียงโห่ฮานั้น ทำให้หนอไม่แน่ใจว่าเธอเป็นเหยื่อของการโดน Abuse ในที่ทำงานหรือเปล่า และถ้าหนอหันไปปรามหรือทำอะไรสักอย่างกับเด็กหนุ่มพวกนั้น เมื่อหนอเดินออกไปแล้ว เธอจะโดนล้อเลียนหนักขึ้นหรือไม่

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเส้นเรื่องที่หนอคิดไปเอง หรืออาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่มันก็ทำให้หนอมาคิดต่อว่าเรื่องน่าหดหู่แบบนี้มันเกิดขึ้นทุกทีจริง ๆ มันเกิดขึ้นในโรงเรียนกับเด็กเนิร์ด ๆ หรือเด็กที่แตกต่างจากคนอื่น มันเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย มันเกิดขึ้นในที่ทำงาน

ทั้งที่คนที่โดนแซวโดนล้อก็ไม่ได้ทำอะไรที่น่าอายหรือผิดร้ายเลย แต่คนส่วนใหญ่ ณ ที่นั้น ๆ กลับเลือกที่จะ Bully คนคนเดียวหรือคนกลุ่มเล็กที่ไม่มีทางสู้ เพื่อให้ตัวเองดูเท่หรือมี Power ขึ้นมา

วันนั้นไม่มีหนังเรื่องที่หนออยากดูในรอบเวลาที่เหมาะ ๆ เลย น่าเสียดายมาก หนออยากจะอุดหนุนเธอคนนั้นมาก ๆ เพราะในวันที่เงียบเหงาอย่างนั้น เธอกลับอยากบริการลูกค้าอย่างเต็มที่ (ตรงกันข้ามกับโรงหนังที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ที่ให้น้องคนสวยท่านหนึ่งนั่งเฝ้าตู้ขายตั๋วด้วยสีหน้าซังกะตาย ถามอะไรไปก็ตอบมาห้วน ๆ)

หนอได้แต่เดินออกมาจาก Empire ด้วยอารมณ์เซ็ง ๆ พร้อมกับหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาที่นี่อีก และหวังว่าเธอคนนั้นจะยังอยู่ที่เดิม "ไว้จะกลับมานะคะ" คือสิ่งที่หนอบอกเธอไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาอีกเมื่อไร หนอหันไปยิ้มกว้างให้เธอเป็นครั้งสุดท้าย หวังว่าการสนทนาที่หนอพยายามส่ง Energy กลับไปในระดับที่เธอส่งมาให้นั้น จะทำให้ 1  วันของเธอเป็นวันที่ดีได้

หนอหวังด้วยว่าชีวิตการทำงานโดยรวมของเธอจะไม่โหดร้ายเกินไปนัก และเธอจะสามารถหาความสุขจากแต่ละวันได้อย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายแล้ว คนแบบนี้นี่แหละที่จะทำให้คู่สนทนามีรอยยิ้มขึ้นมาได้ แม้จะไม่ใช่คนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็ตาม คนแบบนี้นี่แหละที่นายจ้างควรเก็บรักษาไว้ให้ดี แม้สิ่งที่เขาทำจะเล็กน้อยจนไม่ส่งผลโดยตรงต่อรายรับของบริษัทก็ตาม

วันนั้นขณะเดินทางกลับโรงแรมหนอนึกถึงร้านสตาร์บัคส์สาขาหนึ่งที่เกาหลี ที่ตั้งอยู่หน้าหอพัก และทำให้หนอต้องแวะก่อนไปเรียนทุกวัน แล้วก็นึกถึงตัวเองตอนเรียนม.ปลายด้วย แปลกดีนะที่คนแปลกหน้าคนหนึ่งสามารถดึงความทรงจำอะไรไม่รู้มากมายออกมาจากซอกหลืบสมองเราได้ (ไว้วันหลังจะเล่าให้ฟังนะ ขอติดไว้ก่อน)

ขอให้คุณโชคดีนะคะ คุณผู้หญิงผมบลอนด์ที่โรงหนัง Empire

April 18, 2016

London Episode 12: Emirates Stadium

วันนี้ลมแรงจัง 
พัดทีแทบล้มทั้งยืน 
นี่เรามาทำอะไรที่นี่วะ? 


หนอมาที่นี่เพราะ 1. หนอเชียร์อาร์เซนอล 2. พี่ชายหนอเชียร์อาร์เซนอล และ 3. หนอเคาะโลงบอกเพื่อนคนหนึ่ง (ในงานศพมัน) ว่าจะมาแวะที่นี่ให้ ที่ที่มันก็คงรู้สึกผูกพันไม่ต่างกับหนอ ในวันที่มันไม่มีโอกาสได้มาแล้ว

น่าแปลกเนอะ ที่คนเราจะรู้สึกผูกพันกับที่ที่ไม่ได้เกิดและเติบโต ทำไมความทรงจำมากมายถึงเกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลจากตัวเราเช่นนี้ หนอเชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายล้านคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เสียงหัวเราะและคราบน้ำตาทั่วโลกสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยไม่กี่อย่าง ภายในพื้นที่ไม่กี่ร้อยตารางเมตรแห่งนี้



วันก่อนที่หนอจะมานี่อาร์เซนอลเพิ่งตกรอบเอฟเอคัพ กร่อยชะมัด เอมิเรตส์สเตเดียมเลยให้อารมณ์พื้นที่รกร้างที่ถูกทิ้งขว้างโดยถ้วยแชมป์หลายรายการมาหลายสมัย ใกล้ ๆ ส่วนที่เป็นสนามแข่งมีพิพิธภัณฑ์อาร์เซนอลเปิดทำการแบบหงอย ๆ คนที่มาเยี่ยมเยือนไม่ค่อยสนใจส่วนนั้นเท่าไร อยากมาเซลฟีหน้าป้ายสนามเสียมากกว่า

การเดินจากสถานีอาร์เซนอลมายังส่วนที่เป็นสนามแข่งต้องผ่าน "สะพานลุงเคน" ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแด่ตำนานสโมสรอย่าง เคน ไฟรอาร์ (Ken Friar) ผู้ที่เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่อายุ 12 ในฐานะคนขายตั๋ว จนได้เป็นผู้บริหารในที่สุด เรียกว่าทำงานที่เดิมตลอด 60 กว่าปีเลยทีเดียว เจ๋งกว่านี้ไม่มีแล้ว


หนอเดินผ่านรูปปั้นลุงเคนเพื่อไปถ่ายรูปมุมต่าง ๆ ของสนาม ขณะเดียวกันนั้นก็พูดในใจว่า "มาให้แล้วนะแก" ไปตลอด มันจำเป็นมั้ยนะ แล้วไอ้ปัถย์จะรู้มั้ยว่าเราอยู่ตรงนี้

วันที่ปัถย์เสีย หนอไลน์คุยกับพ่อว่า "หนอส่งข้อความไปเมื่อวานว่าจะเที่ยวลอนดอน จะแวะสนามแทนมัน มันไม่ได้อ่านอะพ่อ..." พ่อตอบมาว่า "ฮื่อ คงบินไปเที่ยวเองแล้วล่ะ"

จริง ๆ คนตายแล้วคงไม่ได้ "คิวทาโร่" ขนาดนั้นหรอกมั้ง แต่ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะมาเองแล้ว ไม่ต้องรอให้หนอมาเที่ยวแทน

สำหรับคนที่อยากมาเที่ยวบ้างไม่ยากเลยค่ะ นั่งรถใต้ดินขึ้นที่สถานีอาร์เซนอล เดินต๊อกแต๊กอีกนิดเดียวถึงเลย เป็นย่านที่อยู่อาศัยเงียบสงบมาก (ยกเว้นวันที่มีแข่ง)

ส่วนคนที่จะมาดูบอล กะเวลาดี ๆ ดูเวลาด้วยว่าเวลาไหนสถานีไหนปิด ข้อมูลทั้งหมดหาอ่านได้จากเว็บไซต์สโมสรเลยค่ะ จะซื้อตั๋วเดินทัวร์หรืออะไรก็ทำให้เรียบร้อยล่วงหน้า หวังว่าแฟนบอลทุกคนที่มาจะเต็มอิ่มกับประสบการณ์ที่ได้รับนะคะ

หวังด้วยว่า... จะได้สักแชมป์ (ก็หวังต่อไปเนอะ)

Donmar Warehouse


It was my last weekend in London. Cold, cloudy Saturday - or maybe not that cold, but what do I know, I'm from the Equator zone. I strolled around Covent Garden to find some theater tickets. My friend was visiting London at the time and wanted me to take her to see a play. 

I was just a traveler after all. She, on the other hand, had been in the UK longer than I was, learning English in Guildford, Surrey. I was happy to escort her, though. I'm not complaining. The thing is I wasn't sure what kind of play she would enjoy. 

Knowing that she was hungover from the previous night, I couldn't call her to discuss. It was way to early. Well, it was 11 am, but still. You know what I mean. Your sense of time goes numb when you're hungover.

I decided to stop by the Donmar Warehouse on Earlham Street and see what play was on. I always felt like I had to be there, strangely. I knew I would want to be there. Have you ever looked up a building or a sign and felt like it welcomes you, and that it has long been waiting for you to visit? 

I know it sounds crazy, but that's exactly how I felt when I was standing there, in front of Donmar, that I was imaginarily well-greeted by the front door, the street, the atmosphere - by everything. 

It was a Saturday, the day of matinee shows, but it was quiet. Actually, the streets were all quiet as if no one wanted to leave home before noon. And therein I walked, and two tickets were acquired.

The play was called 'Welcome Home, Captain Fox!' and the two of us enjoyed it very much. It was an afternoon well-spent. It wasn't until much later that day, into the night, that I started to think about the message of the play.

The play was about this 'Captain Jack Fox' who went missing for 15 years after the war. When he was finally discovered and about to be handed over to his family, there was one simple problem. He had no memory what so ever. The family kept calling him 'Jack' but he insisted he was 'Gene'.

How many times do we feel uncomfortable with labels and names given by others? And to submit to those labels feels like tying your soul to other people's body. We are all 'Gene' at one point in life, I suppose.

The story wrapped with Gene deciding to 'die' in order to 'live'. To die from one society in order to start a new life elsewhere.

Don't we all want to be Gene at this point? To escape one world and leap forward to another. To abandon one identity and create something new and better.

It's amazing what one play can do to you. And this all happened because I chose to be at that place at that time. After the tiring process of getting a visa, after the red-eye flights with screaming babies on board, after all the walking and blisters and stuff, I made it to England. I made it to London. I made it to Donmar.

April 12, 2016

London Episode 11: Welcome Home, Captain Fox!

"เรียกผมว่า 'จีน' เถอะ 
ผมไม่ใช่ 'แจ็ก' ของพวกคุณ"

--------------------

มีกี่ครั้งที่เรารู้สึกอึดอัดกับ 'ป้าย' ที่คนเอามาแปะให้ กับ 'สมญา' ที่คนเอามาตั้งให้ กับ 'ชื่อ' ที่คนสรรหามาเรียก สำหรับบางคนอาจจะไม่เคยรู้สึกเลย บางคนอาจจะทำได้แค่ปล่อยผ่าน แต่กับบางคน การยอมรับชื่อที่ว่านั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการผูกยึดวิญญาณของตัวเองไว้กับร่างของคนอื่น จึงต้องยืนกรานปฏิเสธให้หนักแน่นเข้าไว้ ไม่ว่าคู่สนทนาจะรับฟังหรือไม่ก็ตาม


Welcome Home, Captain Fox! ถือเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ของทริปนี้ เพราะหนอไม่ได้ตั้งใจจะมาดูตั้งแต่แรก แต่เรื่องของเรื่องคือได้นัดกับน้องคนไทยคนหนึ่งไว้ว่าจะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แถวโรงแรมที่หนอพัก และน้องคนนั้นดันค้างคืนในลอนดอนต่อ ทำให้ต้องพามันไปทำอะไรสักอย่างในวันรุ่งขึ้นด้วย

"หนูอยากดูละครเวทีบ้าง ไปดูละครเวทีกันเถอะ" อีน้องพูดขึ้น อะ เราก็โอเคสิ ทางถนัด แต่ดูเรื่องอะไรดีวะ ตอนแรกเล็งมิวสิคัลไว้ (ซึ่งราคาก็มิวสิคัลมากไง เหมือนเอาตังค์ไปซื้อเครื่องดนตรีทั้งวง ไม่อยากบังคับใครมาเสียตังค์ร่วมกันขนาดนั้น เดี๋ยวจะเป็นเวรกรรมติดตามกันไปทุกภพชาติ) สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อตั๋ว จะโทรปรึกษามัน อีน้องก็ยังไม่ตื่น เพราะเมื่อคืนเมาหนัก

หนอเดินวนไปมาอยู่พักหนึ่งก็ตัดสินใจเดินเข้า Donmar Warehouse โรงละครขนาดเล็กที่รู้สึกถูกโฉลกตั้งแต่รอบแรกที่เดินผ่าน ตั้งแต่วันแรกที่เที่ยวลอนดอน (ตอนนั้นมาเดินหาร้านกาแฟ) บูทขายตั๋วเปิดทำการตั้งแต่ 10 โมง (ปิดวันอาทิตย์) คนขายตั๋วหล่อมาก (หล่อกว่าอีคนตรวจตั๋วที่ Gielgud นี่ขอจัดอันดับไว้ตรงนี้) ชะงักไปนิดหน่อย แต่ตั๋วก็ต้องซื้ออะเนอะ ก็เลยต้องเดินเข้าไปหานาง


เนื่องด้วยต้องซื้อตั๋วให้ได้ 3 ที่นั่ง จึงได้มาเป็นตั๋วแบบยืนตลอดการแสดงค่ะคุณผู้ชม! ไม่ฟิกซ์ที่ ใครดีใครได้ ประตูเปิดก็พุ่งตัวเข้าไปจองได้เลย แต่ก็โอเค ใบละ 7.50 ปอนด์ ราคาน่ารักมาก (และความพีกคือ สุดท้ายมีคนไม่มา หรือว่างอยู่ยังไงไม่ทราบ ตั๋วยืนทุกคนได้นั่งเฉยเลย สรุปคือจ่ายไปถูกสุดอะไรสุด เป็นราคาที่ไม่สามารถแม้แต่จะขอโหนผ้าม่านดู The Painkiller ด้วยซ้ำ แล้วนี่ยังได้นั่งด้วย คุ้มโคตร ๆ)

เข้าไปคนแรก เห็นเวทีเซตเป็นฉากแรกไว้แล้ว

Welcome Home, Captain Fox! ดัดแปลงมาจากละครเวทีฝรั่งเศสเรื่อง Le Voyageur Sans Bagage (นักเดินทางไร้สัมภาระ) ปี 1937 ซึ่งเคยถูกนำมาเล่นใน West End มาแล้วเมื่อปี 1959 และได้คืนชีพอีกครั้งในปีนี้ ภายใต้การกำกับของ บลานช์ แมคอินไทร์ (Blanche McIntyre) โดยได้ รอรี คีแนน (Rory Keenan) มารับบท จีน (Gene) หรือ Captain Fox ตัวเอกของเรื่อง

ฉากแรกเริ่มต้นขึ้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คนไข้ที่นั่งอยู่กลางห้องนั่นดูท่าจะบ้า เขาจำอะไรไม่ได้เลย เขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และที่แย่ก็คือเขาไม่อยากรู้แล้วด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร จากนั้นก็ตัดไปที่สามีภรรยานั่งปรึกษากันเรื่องการจัดให้ทหารที่สูญหายระหว่างสงครามโลกได้เจอกับครอบครัว ซึ่งก็มีหลายครอบครัวทีเดียว ที่มาลงทะเบียนเพื่อเข้าพบ "ทหารไร้อัตลักษณ์" ผู้นี้

ใช่แล้ว จีนคือทหารคนนั้น! แต่ในเมื่อเขาจำอะไรไม่ได้เลย แล้วจะกลับมาเป็นครอบครัวกับใครก็ตามที่อยากเข้าพบเขาได้ยังไงกันล่ะ?

เรื่องราวดำเนินไป โดยที่อัตลักษณ์ของ (ผู้ที่เคยเป็น) Captain Fox เผยออกมาทีละน้อย เขาเป็นชายหนุ่มคารมดีที่ได้ใจสาว ๆ ไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่แม่บ้าน และไม่เว้นแม้แต่พี่สะใภ้ด้วย! แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ก่อนที่เขาจะไปร่วมรบในสงครามโลก ก่อนที่ตัวตนนั้นจะสาบสูญไป ไม่เพียงแต่จากบันทึกการทหารเท่านั้น แต่จากความทรงจำของเจ้าตัวเองด้วย



ปมในเรื่องเหมือนจะมุ่งไปสู่เส้นชัยที่ว่า "จีนจะใช่สมาชิกครอบครัวฟอกซ์หรือไม่?" และสุดท้ายแล้ว "จีนจะเลือกเป็นลูกชายที่หายไปของครอบครัวไหนกันแน่?" (จาก 23 ครอบครัวที่ลงชื่อขอเจอตัว) แต่สิ่งสำคัญระหว่างการเดินทางสู่เส้นชัยนี้ แท้จริงแล้วกลับเป็นประโยคเดียวจากพ่อบ้านเก่าแก่ของครอบครัวฟอกซ์... 

"คุณครับ บางครั้งก่อนที่คุณจะได้ใช้ชีวิต คุณอาจต้องตายลงเสียก่อน" ซึ่งก็หมายถึงการตายจากสังคมหนึ่ง เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตใหม่ในอีกสังคมหนึ่งนั่นเอง

ที่จริงแล้วพ่อบ้านจะเล่าถึงการจัดงานศพจอมปลอมขึ้นมาของเพื่อน ๆ เขานั่นแหละ แต่ "การตาย" แบบนี้ก็ถือว่าเหมาะกับอีกหลายชีวิต ในอีกหลายบริบท

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อบ้านกลับถูกปรับใช้ได้อย่างดีกับเจ้านายผู้ไร้อัตลักษณ์ของเขา เพราะสุดท้ายแล้ว จีนก็เลือกที่จากตายจากความคาดหวังว่าเขาต้องเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" ที่หายไป เพื่อที่จะไปเริ่มต้นใหม่กับหนึ่งในครอบครัวที่ลงทะเบียนขอเจอตัว

ครอบครัวใหม่ที่จีนเลือกไม่ได้รู้จักกับทหารที่สูญหายไปครั้งนั้นโดยตรง แต่เป็นเพียงญาติห่าง ๆ ที่มีที่ดิน (ที่คาดว่าจะมีน้ำมันอยู่ข้างใต้ด้วย!) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และต้องการสมาชิกไปช่วยทำงานในฟาร์มเท่านั้น ไม่ได้ขอให้จดจำอะไรได้

ทำให้จีนไม่ต้องพยายามรำลึกความทรงจำใด ๆ ที่ไม่มีทางหวนคืนกลับมาสู่สมองของเขาได้อีกต่อไป เรื่องนี้จึงจบลงที่การมุ่งหน้าสู่ชีวิตใหม่ หลังจากที่ตัวเอกของเราบอกลาการเป็น "แจ็ก ฟอกซ์" หรือ Captain Fox ไปตลอดกาล

ห้องนอนของ Captain Fox

--------------------

น่าแปลกที่ละครตลกร้ายเรื่องนี้กลับไม่ได้เฮฮาอย่างที่คิด ทั้งที่ผู้ชมก็ดูจะหัวเราะกันเสียงดัง หรือเพราะจริง ๆ แล้วมันเหมือนกับชีวิตของเรากันนะ? หรือเพราะเราทุกคนต่างก็เคยถูกเรียกชื่อหรือถูกคาดหวังให้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นมาเยอะ? หรือเพราะลึก ๆ แล้ว เราเองก็อยากละทิ้งตัวตนบางตัวตนให้ได้เหมือนกัน?

Welcome Home, Captain Fox! เล่นที่ Donmar Warehouse ถึงวันเสาร์ที่ 16 เมษายนนี้เท่านั้น

April 9, 2016

London Episode 10: The Painkiller

มีกี่คนที่จะกำกับตัวเองในหนัง/ละครได้?
และในจำนวนนั้น
มีกี่คนที่จะทำได้ดีจนเข้าชิงออสการ์?

คำตอบคือมีไม่กี่คนหรอก
ลอเรนซ์ โอลิวิเยร์
ชาร์ลี แชปลิน
ออร์สัน เวลส์
เควิน คอสต์เนอร์
โรแบร์โต เบนิญญี
เอ็ด แฮร์ริส
และเคนเนธ บรานาห์
(เป็นต้น)

และเคนเนธ บรานาห์ นี่เอง
ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้

The Painkiller (2016)

เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh) เป็นนักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และนักเขียนบทฝีมือเยี่ยม ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนการแสดงและถูกฝึกมาแบบคลาสสิก จนสามารถสร้างชื่อทั้งจากละครเวที ละครทีวี ละครวิทยุ และหนัง ซึ่งเมื่อเขาหันมากำกับและได้กำกับตัวเอง ก็มักเป็นผลงานจากงานเขียนของนักประพันธ์คนโปรดอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) 

สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ ผลงานของบรานาห์ที่น่าจะได้ผ่านตากันบ้างในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็เช่น Thor, Jack Ryan: Shadow Recruit (เรื่องนี้ร่วมเล่นด้วย) และ Cinderella

ในปีนี้ บรานาห์หันมาทุ่มเทกับงานละครเวทีเต็มที่ โดยได้เช่าโรงละคร Garrick Theatre ไว้ตลอดทั้งปี เพื่อผลิตละครเวที 6 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นหนอก็ได้ซื้อตั๋วไว้ด้วย ทำให้ได้เห็นบรานาห์ในบทบาทเบา ๆ ในละครเวทีชวนหัว The Painkiller

ถึงหน้าโรงเพิ่งรู้ว่าตั๋วเป็นรอบพิเศษ
รอบจริงอย่างทางการคือวันรุ่งขึ้น

The Painkiller ไม่ใช่บทละครใหม่ เพราะถูกดัดแปลงจาก Le Contrat (ปี 1969) ของฝรั่งเศสมาเป็นเวอร์ชันอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดย ฌอน โฟลีย์ (Sean Foley) ซึ่งที่เก๋คือ... นักแสดงนำตอนนั้นก็คือ 2 คนที่แสดงในเวอร์ชันล่าสุดนี่แหละ!

The Painkiller (2011)

เรื่องนี้บรานาห์รับบท "ราล์ฟ" มือปืนรับจ้างมาดเข้ม ที่ต้องมาอยู่ห้องติดกับ "ไบรอัน" ช่างภาพตกอับที่อยากฆ่าตัวตาย ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทั้งสองถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยไม่จำเป็น จนเรื่องราวเลยเถิดกลายเป็นความหรรษาที่ผู้ชมต้องอมยิ้มตามไปโดยไม่รู้ตัว

The Painkiller เป็นละครเวทีที่มีอยู่ฉากเดียว คือเป็นห้องโรงแรมอย่างนี้ทั้งเรื่อง ไม่เปลี่ยนการจัดวางใด ๆ มีแค่ตัวละครเดินเข้าเดินออก แต่ไดนามิกการเดินเข้าเดินออกนี้เองที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้านักแสดงไม่ลื่นไหลหรือเข้าขากันมากพอ ละครทั้งเรื่องจะไม่ "เวิร์ก" เลยแม้แต่น้อย

แต่แน่นอนว่าเป็นนักแสดงระดับนี้เล่นนี่นะ บรานาห์และร็อบ ไบรดอน เล่นเหมือนไม่ได้เล่นอยู่เลยอะ เป็นธรรมชาติมาก ดูเหมือนพวกนางไม่ต้องพยายามเป็นตัวละครเลยแม้แต่นิดเดียว เหมือนตื่นมาก็เป็นมือปืนเป็นช่างภาพกันอยู่แล้ว บรานาห์นี่ตลกไม่ตลกเปล่า มีตลกกายภาพปนมาด้วย บทเมายาเดินเปลี้ยเดินเป๋เธอใส่เต็มสุด ๆ เห็นแล้วเอ็นดู ฮ่า ๆ ๆ ๆ

สรุปให้เลยว่าใครที่อยู่ลอนดอน อยากดูละครเวที แต่กลัวไม่ "เก็ต" กลัวเข้าไม่ถึง ขอให้เลือกดูเรื่องนี้น่าจะดีสุด เพราะเนื้อเรื่องค่อนข้างเบาสบาย (แต่การแสดงหนักแน่นเปี่ยมคุณภาพ) ขำขันแบบเป็นสากล (คือคนชาติไหนดูก็ขำอะ) แล้วก็โปรดักชันเจ๋งแบบคุ้มค่าตั๋วทุกบาททุกสตางค์จริง ๆ ส่วนใครนั่งไกลกลัวไม่เห็นรายละเอียดบนเวทีชัด ๆ กลัวจะไม่คุ้ม เขาก็มีนี่...

กล้องส่องระยะไกล พร้อมให้บริการ

เอาจริง ๆ นะ... ซื้อตั๋วเพราะเป็นโปรดักชันของเคนเนธ บรานาห์ แค่นั้นเลย ชีวิตนี้ไม่นึกว่าจะได้เห็นนางตัวเป็น ๆ เดินผ่านไปมาตรงหน้า แล้วยิ่งมาได้ลุ้นได้ตลกไปกับทีมนักแสดงชั้นเซียนทั้งหมดนี้แล้วด้วย ยิ่งรู้สึกว่าลอนดอนและโรงละครย่าน West End นี่เป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ ดึงดูดผู้คนไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบจริง ๆ เพราะวันหน้า สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ก็จะมีละครเวทีเรื่องอื่นที่ผลัดเปลี่ยนกันมาให้ดูอีก ใครอยู่ลอนดอนหรือจะเที่ยวลอนดอน เชิญนะคะ หนอแนะนำ

The Painkiller เล่นถึงวันที่ 30 เมษายนนี้

April 5, 2016

London Episode 9: The Curious Incident of the Dog in the Night-Time

I'm going to take Further Maths next year. I'm going to pass it and get an A. And then in two years I'll take A-level physics and get an A. And then I'm going to go to university in another town. I can take Sandy and my books and my computer. I can live in a flat with a garden and a proper toilet. Then I'll get a First Class Honours Degree. Then I'll be a scientist. I can do these things.

I can because I went to London on my own.

I solved the mystery of Who Killed Wellington.

I found my mother. I was brave.

And I wrote a book.

Does that mean I can do anything?


Does that mean I can do anything?

ประโยคสุดท้ายของละครเวทีเรื่องนี้ตกค้างอยู่ในหัวหนอนานหลังจากที่ม่านปิดลง เหมือนเป็นหมัดน็อกปิดเกมที่พอเราฟื้นขึ้นมาก็ยังไม่รู้ว่าแพ้ได้ยังไง เหมือนประโยคตบหน้า เหมือนประโยคบอกเลิก เหมือนคนมาเขย่าตัวให้ตื่น เหมือนมีคนมาบอกว่า 'แกไม่ได้สวยหรอก แกแค่แต่งหน้าขึ้น' เหมือนอะไรสักอย่างที่รู้ว่าจริงแต่ไม่อยากฟัง เหมือนนั่งดูชีวิตตัวเองเล่นอยู่บนเวที ทั้งที่เราไม่เหมือนตัวละครตัวนั้นแม้แต่น้อย

หนอได้ยินชื่อ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time มานานแล้ว รู้ว่ามีละครเวที รู้ว่าเป็นละครเวทีที่ได้รับรางวัลมากมายและได้ฟีดแบ็กที่ดีเยี่ยมจากผู้ชม หนออ่านบทความเกี่ยวกับละครเวทีเรื่องนี้แบบผ่าน ๆ อยู่หลายครั้ง ไม่เคยใส่ใจว่ามันเกี่ยวกับอะไรแน่ จนกระทั่งเพื่อนสนิทแนะนำว่าเที่ยวลอนดอนคราวนี้ให้แวะดูละครเวทีเรื่องนี้ด้วย ไม่สิ ไม่ใช่การแนะนำ มันบอกหนอว่า 'แกต้องไปดูให้ได้ เราชอบเวอร์ชันหนังสือมาก'


หนังสือ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2003 เล่าเรื่องผ่านตัวละครชื่อ คริสโตเฟอร์ เด็กหนุ่มวัย 15 ที่มีอาการ 'ออทิสซึม สเปกตรัม' (ความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาท) พูดแบบให้เห็นภาพชัดหน่อยก็คือ คริสโตเฟอร์เป็นออทิสติกอ่อน ๆ นั่นเอง

เย็นวันนั้นหนอเดินทางอย่างไม่รีบร้อนเท่าไร เพราะโรงละคร Gielgud Theatre ตั้งอยู่ติดกับ Apollo Theatre ที่เพิ่งมาดู Nell Gwynn ไปเมื่อวันก่อน การมีโรงละครตั้งอยู่ติด ๆ กันบนถนนเดียวทำให้การสัญจรไปมาของผู้คนในช่วงเย็น ๆ ดูคึกคักเป็นพิเศษ


เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่หนอซื้อบัตรตรงระเบียงชั้นบน ซึ่งราคาถูกกว่า (เป็นตั๋วลดราคาด้วยนะ ยิ่งถูกเข้าไปอีก เรียกว่ามาดูแบบไม่พยายามเลย เขาให้มาดูก็มา ให้นั่งตรงไหนก็เอา) พอถึงเวลาก็เดินขึ้นไปชั้นที่นั่งแบบชิล ๆ ที่จะรู้สึกกิ๊วก๊าวอยู่บ้างก็คือ คนตรวจตั๋วหล่อ นอกนั้นก็ชิลแหละ

วิวจากที่นั่ง
(ระเบียงที่บังอยู่คือบังจริง ๆ  บังตลอดเวลา
มันถึงลดราคาไง ไม่มีใครอยากนั่งชะโงก ๆ ปะ)

The Curious Incident of the Dog in the Night-Time เปิดเรื่องมาที่ฉาก (ลองเดาซิ...) หมาตาย! เหมือนบนปกหนังสือหรือภาพโปรโมตที่เห็นกันนั่นแหละ หมาโดนสามง่ามทำสวนแทงตาย จากนั้นเจ้าของหมาก็โวยวาย กรีดร้องที่หมาตัวเองโดนฆ่า และกรีดร้องใส่เด็กบ้าที่เธอคิดว่าเป็นคนทำ


เด็กบ้าที่ว่าคือ คริสโตเฟอร์ ที่ก็สงสัยเรื่องการตายของหมา - เวลลิงตัน - ไม่แพ้เธอผู้เป็นเจ้าของ หลังจากที่เขาอธิบายกับตำรวจว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาก็มุ่งมั่นจะค้นหาความจริงต่อไป เริ่มต้นจากการสัมภาษณ์เพื่อนบ้านโดยรอบก่อน


ระหว่างการตามล่าหาความจริงของคริสโตเฟอร์ เส้นเรื่องที่ผุดขึ้นมาทับซ้อนกันก็คือ สถานะความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว พ่อที่เมามาย แม่ที่ตายไป และเพื่อนบ้านตัวละครลับที่เป็นเจ้าของร่วมของหมาที่ตาย เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน หรือความจริงแล้วแม่ไม่ได้ตาย แต่เธอแค่หายตัวไป แล้วเธอหายตัวไปไหนกันแน่?

ถึงจุดนี้ กลายเป็นว่าคริสโตเฟอร์จำเป็นต้องตามล่าหาความจริงมากกว่า 1 เรื่องเสียแล้ว และทั้งหมดจะไม่ยากเย็นเลย ถ้าเขาไม่ได้มีความผิดปกติทางการแสดงออกและการเข้าสังคมแบบนี้ แต่สิ่งที่เขาเป็นนั้น 'ผิดปกติ' จริงหรือ?


It's a novel about how you live with other people. 
It's about family. It's about love. 
It's about how you articulate love. 
It's about the importance of being honest. 
It's about the difficulty of truthfulness.

- Simon Stephens (Playwright)

นอกจากความจริงเรื่องหมาและความจริงเรื่องแม่แล้ว คริสโตเฟอร์ยังต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของตนเองด้วย ว่าแต่ทำไมชีวิตถึงต้องยากและซับซ้อนนัก ทำไมเราต้องเรียนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในวันนั้นวันนี้ ภายในปีนั้นปีนี้ แล้วเราทุกคนจะเป็นนักบินอวกาศกันได้ไหมนะ แล้วเราจะพาสัตว์เลี้ยงขึ้นไปเที่ยวด้วยได้หรือเปล่า?


ตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมจะได้มองเห็นโลกผ่านสายตาของคริสโตเฟอร์ - เด็กออทิสติก - แล้วเข้าใจว่าความจริงว่าเราและเขาก็ไม่ต่างกัน สิ่งที่คริสโตเฟอร์ตั้งคำถามคือสิ่งที่น่าสงสัยจริง ๆ แม้จะประหลาดไปบ้าง แต่มันก็น่าสงสัยจริง ๆ นี่นา แล้วทำไมผู้คนต้องมองคริสโตเฟอร์แปลก ๆ ด้วยเล่า? การถามคำถามที่ไม่เหมือนใครนั้นผิดด้วยหรือ?

ในเมื่อเราทุกคนล้วน 'ผิดปกติ'

ในเมื่อเราทุกคนล้วนเป็นคริสโตเฟอร์

ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

หรืออาจจะตลอดเวลาด้วยซ้ำ


สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ The Curious Incident of the Dog in the Night-Time ก็คือ การใช้ร่างกายและการใช้พื้นที่บนเวทีของนักแสดงทุกคน ทั้งหมดถูกคำนวณและออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นละครเวทีประเภทที่หนออยากลงนั่งพับเพียบหมอบกราบไปตลอดการแสดงเลยทีเดียว มันสุดยอดมากจริง ๆ

บนเวทีแคบ ๆ ก็ขึ้นลงบันไดเลื่อนได้นะคุณ


It relates to lot of us all of the time, I think, 
we all spend many hours of our life feeling perplexed 
by why other people behaving 
in the way that they're behaving.

- Marianne Elliott (Director)


ที่สุดแล้ว เราทุกคนต่างก็วุ่นวายใจเพราะสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กออทิสติกหรือคนมีปัญหาอะไรหรอก ใคร ๆ ก็มีปัญหากับครอบครัวได้ ใคร ๆ ก็ไม่เข้าใจกันได้ ใคร ๆ ก็พูดแล้วเข้าใจไม่ตรงกันได้ ใคร ๆ ก็มีปัญหากับการขึ้นรถลงเรือและป้ายบอกทางได้เหมือน ๆ กัน

ในเมื่อเราทุกคนล้วน 'ปกติ'

ในเมื่อเราทุกคนล้วนเป็นคริสโตเฟอร์

ในเมื่อชีวิตเราทุกคนต่างมีขั้นมีตอน

เรียนจบ เข้ามหา'ลัย ทำงาน และตามความฝัน


เราทำทั้งหมดนี้สำเร็จแล้ว แปลว่าเราจะทำอะไรก็สำเร็จได้ใช่ไหม?

------------------------------

The Curious Incident of the Dog in the Night-Time มีกำหนดเล่นที่โรงละคร Gielgud Theatre ใกล้สถานี Piccadilly Circus ไปจนถึงต้นเดือนมกราคมปี 2017 เรตอายุผู้ชมอยู่ที่ 11+ ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 18 ปอนด์

April 4, 2016

London Episode 8: Nell Gwynn

"All the pleasure of the play was, 
the King and my Lady Castlemaine were there; 
and pretty witty Nell..."

- Samuel Pepys, 3 April 1665


เนลล์ กวินน์ มีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเป็นทั้งนักแสดงหญิงคนแรก ๆ ของประเทศ และเป็นชู้รักผู้เลื่องลือของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดนั่นก็ไม่ได้น่าสนใจเท่ากับที่นักแสดงผู้จะมารับบทเป็นเธอในโปรดักชันล่าสุดนี้คือ "เจ็มมา อาร์เทอร์ตัน" (Gemma Arterton) จากเรื่อง James Bond: Quantum of Solace, Clash of the Titans, Prince of Persia: the Sands of Time และ Hansel and Gretel: Witch Hunters

ก่อนหน้าที่ Nell Gywnn จะถูกนำมาเล่นที่ Apollo Theatre ในย่าน West End นี้ ก็เพิ่งเป็นละครเวทีภายใต้โปรดักชันและผู้กำกับเดียวกันที่ Shakespeare's Globe เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นนำแสดงโดยนักแสดงผิวสีอย่าง "กูกู เอ็มบาธา-รอว์" (Gugu Mbatha-Raw) จากเรื่อง Concussion

เจ็มมา อาร์เทอร์ตัน

กูกู เอ็มบาธา-รอว์

ถึงแม้จะเป็นเรื่องของคนที่เคยมีตัวตนอยู่จริง แต่ Nell Gwynn เป็นบทละครที่เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2013 โดย "เจสสิกา สเวล" (Jessica Swale) นักเขียนบทละครและผู้กำกับละครเวที ซึ่งรับหน้าที่กำกับโปรดักชันนี้ทั้งสองเวทีด้วย

ต่อให้ไม่รู้เนื้อเรื่องหรืออ่านรีวิวใด ๆ การที่ละครสักเรื่องจะได้ "ย้าย" (Transfer) จากโรงละครนอก West End มายัง West End นั้น ถือเป็นการการันตีความสำเร็จได้ระดับหนึ่งแล้ว ยิ่งมีนางเอกระดับเจ็มมา -- ที่จบจากสถาบันการแสดงชื่อดังอย่าง RADA และเฉิดฉายอยู่ในแวดวงละครเวทีอังกฤษก่อนจะข้ามฟากไปดังฝั่งฮอลลีวูด -- แล้วด้วย หนอนี่กดซื้อตั๋วแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเลย


การไม่อ่านรีวิวและการไม่คิดหน้าคิดหลังตอนซื้อตั๋วทำให้หนอไม่รู้ว่าละครเวทีเรื่องนี้เป็น... ละครตลก! ไม่ได้ตลกเฉย ๆ ด้วยนะ แต่เป็นตลกกึ่งมิวสิคัล เพราะพวกนางร้องเล่นเต้นระบำกันเต็มที่สุด ๆ แล้วผู้ชมก็ได้ฟังเสียงเพราะ ๆ ของเจ็มมาได้เต็มอิ่มสุด ๆ ด้วย

(ที่ว่าสถาบันการแสดงของที่นี่ฝึกให้นักเรียนใช้เสียงและร้องเพลงเป็นนี่คือมันฝึกให้ร้องจนเพราะได้ขนาดนี้เลยเหรอวะ? หรือคนพวกนี้ต้องเกิดมาพร้อมเนื้อเสียงที่ดีด้วย? บ้าจริง... เจ็มมานี่ทำอะไรก็ดีก็น่ารักไปหมดเลย)

ภาพจากตอนซ้อม

ภาพจากตอนซ้อม

ทั้งหมดนี่พอใส่วิก-ทำผม-แต่งหน้า-แต่งตัวแล้วลุคจะเปลี่ยนทันที

ภาพจากตอนแสดงจริง

ทุกเรื่องที่กล่าวถึงพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
มักไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเจ้าหมาพันธุ์ "คิง ชาร์ลส์ สแปเนียล" ด้วย

บทละครเรื่อง Nell Gwynn บอกเล่าถึงการขึ้นมาเป็นนักแสดงของเนลล์ หญิงที่มีชาติกำเนิดต่ำต้อย (สมัยนั้นมีแต่นักแสดงชาย - เล่นทั้งบทผู้ชาย/ผู้หญิง) จนได้พบกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และสุดท้ายพระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากไป ทำให้เธอหวนคืนสู่เวทีแสดงอีกครั้ง

โดยรวมแล้ว Nell Gwynn เป็นละครตลกที่ดูง่ายและมีองค์ประกอบที่กลมกล่อมลงตัว ทั้งเพลง ทั้งการแสดง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ถือเป็นละครที่ให้ความเพลิดเพลินกับผู้ชมได้ดีมาก ๆ น่าจะถูกใจทั้งคอ "เพลย์" และคอ "มิวสิคัล"

ล่าสุด ผู้กำกับของเรื่องก็เพิ่งรับรางวัลโอลิวิเยร์ (The Olivier Awards) อันทรงคุณค่า ในสาขา Best New Comedy ซึ่งก็มีการจัดงาน/มอบรางวัลกันอย่างยิ่งใหญ่ที่ The Royal Opera House เมื่อคืนนี้ (3 เมษายน)

เจสสิกา สเวล กับรางวัลโอลิวิเยร์ของเธอ

ขอแสดงความยินกับเจสสิกา
และนักแสดง/ทีมงานด้วยค่ะ

***** ยืนปรบมือยาว ๆ *****