"It's an investigation of inequality and Britishness."
- Tom Hiddleston
--------------------
ทริปลอนดอนครั้งนี้ของหนอเป็นทริปตะลุยดูละครเวที ก่อนไปได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้ 6 เรื่อง และสุดท้ายก็ได้ไปซื้อตั๋วหน้าโรงอีก 1 เรื่อง กลายเป็นว่า 10 วัน ได้ดูละครเวทีไป 7 เรื่อง แต่นอกจากนั้นยังมีตั๋วสุดพิเศษที่หนอจองไว้อีกก็คือ ตั๋วรอบก่อนฉายจริงทั่วประเทศ (อังกฤษ) ของหนังเรื่อง High-Rise โดยมีเซสชั่นถาม-ตอบกับผู้กำกับ เบน วีตลีย์ (Ben Wheatley) ปิดท้ายให้ด้วย
ก่อนจะเขียนอะไรต่อจากนี้ ขอออกตัวไว้เลยว่าบทความนี้มีสปอยล์ คือถ้ายังไม่ได้ดูก็น่าจะอ่านแล้วงงอยู่บ้าง แต่จะพอเห็นภาพว่าหนังเป็นยังไงมายังไง ถือเสียว่าเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าจะไปดูหรือไม่ก็แล้วกัน เมืองไทยนี่ได้ข่าวว่ากำหนดเข้าฉายคือต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง ไม่นานเกินรอ
สำหรับภาพตัดโปรโมตที่หลายคนให้ความสนใจ (ด้านบน) นั้น บอกเลยว่าในหนังมีอยู่แค่ไม่กี่วินาที ถ้าจะไปดูแค่นี้ไม่น่าจะคุ้ม หรือถ้าใครจะไปดูเพื่อฉากโป๊และฉากเซ็กส์ก็ตามสะดวก (ไม่รู้ของไทยเราตัดออกเยอะมั้ยนะ) แต่เนื้อหาวิพากษ์การเมือง/สังคมแบบนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบดู... สรุปกันตรง ๆ ว่า High-Rise ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน
คอลัมนิสต์นิตยสาร Total Film แนะนำว่า หนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบดู Shivers (ปี 1975) Fight Club (ปี 1999) และ Dredd (ปี 2012) ขณะที่ นิตยสารแจกฟรีของโรงหนังเครือ Picturehouse ก็บอกว่าเหมาะกับคนที่ชอบดูหนังแบบ Sightseers (ปี 2012) Under the Skin (ปี 2013) และ Inherent Vice (ปี 2014)
นายแพทย์ โรเบิร์ต แลง
ชาร์ลอตต์ เมลวิลล์
แอนโธนี รอยัล
ริชาร์ด ไวล์เดอร์
High-Rise เป็นนิยายที่ เจ. จี. บัลลาร์ด (J. G. Ballard) เขียนขึ้นเมื่อปี 1975 กล่าวถึงตึกระฟ้าที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกล้ำสมัย ดึงดูดให้ผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างฐานะทางสังคม เข้ามาพักรวมกันเป็นสังคมย่อย ๆ มีวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความแตกต่างของคนเหล่านี้บานปลายเป็นความแตกแยก?
ตัวหนังคุมโทนได้สม่ำเสมอดี บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้กระชับรวดเร็ว แต่ถ้าใครไม่ชินกับหนังอังกฤษอาจมีหาวนอนบ้าง เพราะโทนโดยรวมค่อนข้างราบเรียบ ไม่หวือหวาเรียกคะแนนอย่างหนังฮอลลีวูด สำหรับหนอ High-Rise คือหนัง Must-see นะ เพราะหนอโตมาอย่างเด็กรัฐศาสตร์ (วิพากษ์แม่งทุกอย่างในโลก) การได้ดูหนังแบบนี้เป็นการกระตุ้นต่อมรัฐศาสตร์ที่ดี
นี่พยายามไม่สปอยล์แล้วนะ ถัดจากนี้คือสปอยล์ของจริง...
"When I was your age,
I was always covered in something.
Mud.
Jam.
Failure."
- Dr. Robert Laing
ประโยคข้างต้นมาจากบทพูดของตัวละครเอกของเรื่อง (นายแพทย์ โรเบิร์ต แลง) โดยเขาย้ำว่าเพราะเหตุนี้ทำให้พ่อไม่ค่อยอยู่ใกล้ชิด ไม่ค่อยมายุ่งเท่าไร ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือในหลายซีนหลังจากนั้น แลงมักจะอยู่ในสภาพที่เปื้อนอะไรสักอย่างเสมอ ทั้งยังชอบปกปิดตัวเองด้วยเครื่องแต่งกายตลอดเวลา (เช่น การมีเซ็กส์โดยไม่ถอดเสื้อผ้าในหลายซีน) เหมือนกับว่านี่คือเครื่องมือป้องกันตัวไม่ให้ใครมายุ่ง เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดปลอดภัยใน High-Rise แห่งนี้ต่อไปได้
ที่ว่าอยู่รอดปลอดภัยนี่ก็เพราะบรรยากาศที่ผู้คนในตึกหันมาห้ำหั่นกันเอง ทำให้การใช้ชีวิตแบบปกติเริ่มเป็นไปได้ยาก จนกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย แลงเริ่มนอนไม่หลับ และเข้าสู่วังวนในการต่อสู้แบบเดิม ๆ ทุกวัน
นอกจากแลง ตัวละครที่โคจรอยู่รอบตัวเขาก็โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ละคนล้วนเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม/โลกแห่งความเป็นจริงทั้งสิ้น การดู High-Rise จึงถือเป็นประสบการณ์ดูหนัง-ตั้งคำถามไปในหัวอย่างไม่รู้จบจริง ๆ
แลงคือตัวแทนของผู้ชม ไม่เพียงแต่เราจะเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องผ่านสายตาแลงเท่านั้น แต่ด้วยความที่แลงเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่พยายามลอยตัวผ่านปัญหาระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง จึงทำให้ผู้ชมพลอยลุ้นไปด้วยได้ไม่ยาก ว่าแลงจะอยู่รอดหรือไม่? แล้วพวกเราเอง (ผู้ชม) จะอยู่รอดหรือไม่?
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคงไม่หนักหนารุนแรงเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง ที่ตัวละครต่างโจมตีกันเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างเต็มปากหรือว่า ทุกคนในโลกปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอารยะ? แล้วความรุนแรงผิดมนุษย์มนาที่เห็นในข่าวทุกวันนี้นี่เล่า?
หลังจากฟาดฟันกันทั้งเรื่อง แลงก็ได้ใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปใน High-Rise ร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ที่รอดมาได้ และเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่คำถามของแฟน ๆ ในโรง ซึ่งหนึ่งในคำถามเหล่านั้นก็มีคำถามที่ฟังดูไม่ค่อยเข้าท่านักปนอยู่ด้วย
"Why don't they just leave?"
น้องผู้หญิงคนหนึ่งยกมือถาม
นี่มึงดูหนังไม่เข้าใจใช่ปะ?
หนอคิด
จำไม่ได้ว่าผู้กำกับตอบว่า "Because they're happy." หรือไม่ แต่เป็นคำตอบประมาณนี้แหละ ซึ่งน้องผู้หญิงคนที่ถามก็ยังสงสัยต่อไป "Just simply... that?" (เออสิ นี่มึงไม่เข้าใจจริง ๆ ใช่ปะ? - หนอคิด) แล้วผู้กำกับก็ยังยืนยันว่า "Yes." ทำเอาผู้ชมที่เหลือหัวเราะในความห้วนของแก
สิ่งที่หนออยากลุกขึ้นถามน้องคนนั้นกลับไปมากเลยก็คือ "Would you leave the UK?" เพราะนั่นเป็นสิ่งที่หนอตีความได้จากเนื้อเรื่อง (คนอื่นดูอาจไม่คิดอย่างนี้นะ อันนี้เป็นความคิดส่วนตัว)
เอาอย่างนี้นะ ถ้าเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเห็นตึกเป็นตึก ก็จะไม่ได้อะไรจากหนังเลย สำหรับหนอแล้ว ตึกระฟ้าใน High-Rise เป็นตัวแทนของสังคมขนาดใหญ่กว่านั้น จะเป็นชุมชนเมือง จังหวัด หรือประเทศ ก็เอาไปแทนค่าได้หมด ไม่ว่ามันจะพังจนไม่รู้จะพังยังไงแล้ว เราก็ต้องทนอยู่ต่อไป การเดินออกจากสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ ๆ คิดจะทำก็ทำ
ดูคลิปตัวอย่างนาทีที่ 1:03 - 1:06 ...
"Prone to fits of mania, narcissism and power failure."
Power failure ในที่นี้คือปัญหาไฟฟ้าในตึกดับบ่อย ๆ นั่นแหละ แต่มันจะแค่นั้นหรือเปล่า? หรือ Power ตัวนี้จะหมายถึงขั้วอำนาจ (ที่กำลังจะถูกโค่น - อย่างที่จะเห็นได้ในตอนท้าย ๆ ของหนัง) ด้วย?
หรือการจะทนอยู่ต่อไปในสังคมให้ได้นั้น เราต้องกำจัดขั้วอำนาจที่ไม่ชอบธรรมออกไปให้ได้ด้วย?
และการอยู่รอดเพื่อที่จะทนอยู่ต่อไปในสังคมที่ว่า ก็ต้องใช้วิธีทำตัวให้ "เปรอะเปื้อน" อะไรสักอย่างเหมือนแลง ให้ความเปรอะเปื้อนนั้น ให้เสื้อเชิ้ต-สูท-เนกไท เป็นเกราะกำบังอะไรบางอย่าง
ให้เราอยู่รอด... ได้นานกว่าสังคมที่ล้มเหลวนี้...
--------------------
** ส่งท้าย **
เครื่องแต่งกายนักแสดง จัดแสดงที่โรงหนัง Picturehouse Central
โรงหนัง Curzon Soho ติดสติกเกอร์โปรโมตรอบโรงเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้จะบอกว่า...
ไปดู High-Rise ก็เถอะนะ
หนังแบบนี้นาน ๆ มี (เข้าฉายบ้านเรา) ที
High-Rise น่าดูอะ ไว้ต้องไปหามาดูบ้าง
ReplyDeleteพฤษภานี้เข้าไทย ลิโด้ก็มีฉายนะ ถูกและดี 5555
Delete