March 29, 2016

London Episode 4: BFI

"ชอบบล๊อกที่หนอเรียกตัวเองว่า 'หนอ' มากกว่า"
เป็นฟีดแบ็กที่ได้รับมากกว่าหนึ่งครั้ง
จากคนอ่านมากกว่าหนึ่งกลุ่ม

ตั้งแต่โพสต์นี้ไป
หนอเรียกตัวเองว่า "หนอ"
เหมือนเวลาพูดปกติ ก็แล้วกันนะ

--------------------


"Talking about dreams is like talking about movies, since the cinema uses the language of dreams; years can pass in a second and you can hop from one place to another. It's a language made of image. And in the real cinema, every object and every light means something as in a dream."

- Federico Fellini
--------------------

ตั้งแต่เล็กจนโต หนอคุ้นเคยแต่กับหนังฮอลลีวูดที่ถูกเลือกซื้อเข้ามาฉายในเมืองไทย จนหลงคิดไปว่าฮอลลีวูดคือทั้งหมดของ "หนังฝรั่ง" ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย

หนึ่งในอุตสาหกรรมหนังดีที่คนไทยไม่ค่อยได้เสพ แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้ฮอลลีวูดก็คือ อุตสาหกรรมหนังอังกฤษ ที่มีจังหวะจะโคนเป็นเอกลักษณ์ มีความเนิบช้า และสื่อสารกับผู้ชมในช่วงที่ไม่มีบทพูดได้อย่างดี

สถานที่หนึ่งที่หนอต้องแวะให้ได้ในทริปลอนดอนครั้งนี้ก็คือ สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute - BFI) เพราะอยากไปเห็นว่าองค์กรการกุศลที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องศิลปะแขนงนี้โดยเฉพาะนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร

BFI ตั้งขึ้นในปี 1933 (83 ปีที่แล้ว) มีหน้าที่รวบรวม จัดจำหน่าย และให้ทุนสร้างหนัง ตลอดจนจัดงานเทศกาลโปรโมตหนังธีมต่าง ๆ และสนับสนุนการศึกษาวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง โดยมีหอจดหมายเหตุที่ใช้จัดเก็บหนังอังกฤษทรงคุณค่า ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้ต้องมีการจัดระดมทุนและอาศัยผู้บริจาครายย่อยอยู่บ่อยครั้ง

ป้ายรถเมล์ข้างอาคาร BFI - มองเห็น London Eye ด้วย

หนอนั่งรถใต้ดินไปลงสถานี Waterloo ที่มีคนพลุกพล่าน แล้วก็เดินต่อตามป้ายบอกทางริมถนน จนมาถึงส่วนที่เป็นโรงละครแห่งชาติ (National Theatre) และ BFI ซึ่งภายในมีห้องฉายหนัง ห้องสมุด และร้านค้าที่มีแต่สินค้าเกี่ยวกับหนังมากมาย

ถนนลอดใต้ทางยกระดับ ระหว่างทางไป BFI

ตั้งแต่ปี 2012 BFI ได้จัดโครงการ Film Forever ขึ้น โดยเป็นโครงการ 5 ปี เพื่อสนับสนุนหนังอังกฤษโดยเฉพาะ มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศ และส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นต่อไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีหนังฟอร์มเล็กจำนวนมากที่สร้างขึ้นได้เพราะงบประมาณจาก BFI ซึ่งบางส่วนก็กลายเป็นชื่อที่แฟนหนังชาวไทยคุ้นหูอยู่บ้าง ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ก็เช่น The Lobster, 45 Years, Brooklyn และ Suffragette เป็นต้น

Suffragette

"Whether it's Fish Tank, or Shame, or Suffragette, there are so many uniquely British stories. And without the BFI, they wouldn't be told."

- Tom Hiddleston

National Theatre

เมื่อเดินเข้ามาอยู่ท่ามกลางอาคารแห่งศิลปะการแสดง ทั้งโรงละครแห่งชาติและ BFI และมองดูพื้นที่โดยรอบแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศนี้เขาให้ความสำคัญกับ "ศิลปะ" จริง ๆ เพราะทั้งหมดนี้คือพื้นที่ที่ยังมีชีวิต ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างผุพัง หรือขาดคนดูแล ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนเสพศิลปะที่ตนชื่นชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และสถานที่เหล่านี้ก็ยังคงมีผู้สนใจแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

ศิลปะเป็นตัวบ่งบอกถึงจิตวิญญาณของคนในสังคมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี สังคมไหนเปิดรับอะไร ถ่ายทอดชิ้นงานออกมาลักษณะใด เสียงตอบรับต่อชิ้นงานเหล่านั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้คืออัตลักษณ์ของสังคม

แน่นอนว่า การไม่เปิดรับ การไม่ถ่ายทอดชิ้นงาน และเสียงตอบรับที่ไม่เป็นธรรมต่อชิ้นงานที่มีคุณภาพ ก็บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของสังคมด้วยเช่นกัน สังคมที่ปิดกั้นการเจริญเติบโตของศิลปะ เป็นสังคมที่ไม่สร้างสรรค์ และจะจมอยู่ในวังวนความไม่สร้างสรรค์ของตนต่อไปเรื่อย ๆ

ป้าย BFI Film Forever

ทางเข้าอาคาร BFI

นิตยสาร Sight & Sound ฉบับล่าสุด

BFI มีนิตยสารรายเดือนชื่อ Sight & Sound (ร้านหนังสือบางแห่งนำเข้ามาวางขายในเมืองไทยด้วย - ราคา 395 บาท) วางขายใน BFI Shop พร้อมให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อในราคา 4.50 ปอนด์ นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารหนังที่น่าสนใจอีกหลายหัว ซึ่งหนึ่งในฉบับที่เตะตาแบบจัง ๆ เลยก็คือ...

Film Comment ปก เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หนอหยิบนิตยสารทั้งสองเล่มขึ้นมาใส่ตะกร้า จากนั้นก็เดินดูหนังสือและดีวีดีต่ออีกสักครู่ เลือกดีวีดีสารคดีสงครามและหนังสือที่น่าสนใจลงตะกร้าใบเดิม แล้วจึงหยิบโปสการ์ดสี่ห้าใบรวมไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ทั้งหมดนี้เป็นการซื้อของครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มาเที่ยวลอนดอน (และก็ดูจะเป็นการปรนเปรอตัวเองที่ค่อนข้างไร้สาระ) แต่หนอมั่นใจว่า นอกเหนือจากต้นทุนสิ่งพิมพ์ส่วนที่รับมาขายแล้ว เงินที่เหลือจะถูกนำไปให้เพื่อศิลปะอย่างแท้จริง

ศิลปะแบบที่แถวบ้านเรายังไม่มีให้สนับสนุนเท่าไรนัก...

2 comments:

  1. เห็นด้วยนะ บ้านเราเสพศิลปะกันน้อยมาก

    ReplyDelete
    Replies
    1. ของอย่างนี้มันบ่มเพาะกันรุ่นสู่รุ่นเนอะ มันต้องสร้างกันร้อยปีสองร้อยปีอะ

      Delete