ประตูทางเข้าสุสานไฮเกตฝั่งตะวันตก
"It's a good address to be dead."
เมื่อสุสานกลายเป็นพื้นที่อันน่ารื่นรมย์
--------------------
เมื่อโพสต์ที่แล้ว ฉันพูดถึงบทสนทนากับคุณจอห์น ไกด์อาสาของสุสานไฮเกต ไปแล้ว คราวนี้มาพูดถึงตัวสุสานไฮเกตกันเลยดีกว่า ฉันอ่านเจอในหนังสือนำเที่ยวเล่มหนึ่งว่าสุสานแห่งนี้เป็นสถานที่แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว จึงจัดการเข้าเว็บไซต์ จองตั๋วผ่านประตู และพรินต์แผนที่วิธีไปออกมาให้เรียบร้อย
ก่อนเดินทางได้ปรึกษากับเพื่อน ๆ ทั้งที่เคยเรียนและที่ไปเที่ยวอังกฤษบ่อย ๆ พบว่าไม่มีใครเคยแวะไปที่นี่เลย ทำให้การเดินทางรอบนี้ยิ่งน่าตื่นเต้นสำหรับฉัน เพราะเป็นการไปเพื่อค้นพบและกลับมาบอกเล่าอย่างแท้จริง ถือเป็นการเดินทางที่พิเศษ
ทางเดินในสวนวอเตอร์โลว์
สุสานไฮเกตซ่อนตัวอยู่หลังสวนวอเตอร์โลว์ (Waterlow Park) บนเนินเขาไฮเกต (Highgate Hill) เดินทางโดยรถใต้ดินลงที่สถานี Archway แล้วจะนั่งรถเมล์ต่อหรือเดินเท้าขึ้นเขาเองก็ได้ เมื่อถึงสวนวอเตอร์โลว์ให้เดินไปตามทางจะเจอประตูทะลุไปยังสุสาน แบ่งเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก
ฝั่งตะวันออกเป็นส่วนที่ผู้ชมสามารถเดินเที่ยวเองได้ โดยไม่จำกัดเวลา มีค่าเข้าชม 4 ปอนด์ สำหรับผู้ใหญ่ ขณะที่ฝั่งตะวันตกต้องเข้าเป็นรอบและมีไกด์ไปด้วยเสมอ จำกัดวันธรรมดาวันละ 1 รอบ เปิดให้จองออนไลน์ เสาร์อาทิตย์มีทัวร์ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่ 11 โมง ถึง 4 โมงเย็น เปิดขายตั๋วหน้างานเวลา 10.45 น. ของวันนั้น ๆ โดยมีค่าเข้าชม 12 ปอนด์ สำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถเข้าชมฝั่งตะวันออกได้ด้วย
ทางเดินไปยังพื้นที่ฝังศพ
บันไดสู่ "ปลายทางที่มองไม่เห็น"
สุสานไฮเกต เปิดทำการในปี 1839 (177 ปีมาแล้ว) ปัจจุบันมีบอร์ดบริหารดูแล และใช้ค่าผ่านประตูที่ได้รับ บวกกับการขายพื้นที่หลุมศพที่ยังเหลือ เป็นงบประมาณในการบำรุงรักษา
คุณจอห์นบอกว่า ที่นี่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่แห่งการเดินทาง "ไปยังสถานที่ที่มองไม่เห็น" ไปสู่โลกแห่งความตาย ทางเดินถูกวางผังให้คดเคี้ยว บันไดถูกออกแบบให้มองแล้วไม่เห็นขั้นสุดท้าย จนกว่าจะเดินขึ้นไปถึงแล้ว
น่าแปลกดีที่ที่นี่ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนป่าช้าทั่วไป แต่กลับร่มรื่นเหมือนสวนหย่อม สวนสาธารณะ เสียมากกว่า ซึ่งหลังจากที่ฟังบรรยายก็พบว่าเป็นเช่นนั้น
สมัยก่อนหนุ่มสาวใช้ที่นี่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งที่มีการฝังศพมาตั้งแต่ยุคนั้น และด้วยความที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้หญิงสาวสามารถเดินทางมาได้เอง โดยไม่ต้องมีคนมาเป็นเพื่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ สุสานไฮเกตจึงกลายเป็นแหล่งนัดพบของชายหนุ่มหญิงสาวยุควิกตอเรียไปโดยปริยาย
ไกด์กำลังบรรยายลักษณะหลุมศพอย่างตั้งใจ
ช่วงศตววรรษที่ 19 ลอนดอนดำเนินการสร้างสุสานทั้งหมด 7 แห่ง เรียกรวมว่า Magnificent Seven โดยไฮเกตเป็นแห่งที่สาม และได้รับความนิยมมากที่สุด
"It's a good address to be dead." คุณจอห์นบอก "ทุกคนต้องการถูกฝังที่นี่" และแน่นอนว่าสุสานแห่งนี้มีร่างคนดังในยุคนั้น (และยุคหลัง) จำนวนมาก "ทุกคนที่ถูกพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่ที่นี่หมด" คงเพราะความน่ารื่นรมย์ สถาปัตยกรรม ความห่างไกลจากใจกลางลอนดอน ห่างไกลจากชุมชนแออัด และโรคระบาดอื่น ๆ
ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) นักเขียนชื่อดัง ชอบไฮเกตมากเสียจนเลือกที่จะฝังศพสมาชิกครอบครัวและคนรอบตัวที่นี่ น่าเสียดายที่ตัวเขาไม่ได้ถูกฝังที่นี่ด้วย แต่กลับถูกฝังไว้ที่มุมนักประพันธ์ ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ แทน
ไม่มีอะไรที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ สัญลักษณ์ต่าง ๆ บนแต่ละหลุมศพบ่งบอกถึงความเป็นมาของบุคคลนั้น และวัฒนธรรมของยุควิกตอเรียได้อย่างดี
เช่นในภาพด้านบน รูปเกือกม้าที่มุมล่างซ้าง บนเสามุมหลุมศพ บ่งบอกว่าเจ้าของหลุมเกี่ยวข้องกับรถม้า เขาคือ เจมส์ วิลเลียม เซลบี (James William Selby) คนที่ขับรถม้าได้เร็วที่สุด เป็นเหมือนแชมป์ฟอร์มูลา วัน ในยุคนี้นั่นเอง
ส่วนเสาหักครึ่งในด้านขวาของรูป เป็นของหญิงที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (38 ปี) จึงเป็นเสาที่ไม่เต็ม
ทางเดินในสุสานฝั่งตะวันตก
หลุมศพของสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง
หลุมศพของ จอร์จ วูมบ์เวลล์
นักจัดแสดงละครสัตว์ชื่อดัง
ด้านบนเป็นรูป เนโร สิงโตของเขา
ที่นี่เผชิญปัญหาไม่ต่างกับสุสานอื่น ๆ มีการขโมยศพไปใช้เป็น "อาจารย์ใหญ่" หลายครั้ง ด้วยความที่โรงเรียนแพทย์ผลิตนักศึกษาแพทย์เพิ่มมากขึ้น จนจำนวนคนตายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ช่องเก็บศพหลายช่องต้องต่อเติมประตูเปิด-ปิดและทำล็อกแน่นหนา แต่กระนั้นก็ยังมีการพังประตูและขโมยศพไปได้ (ด้านในอาคารมืดมาก ถ่ายภาพมาไม่ได้)
อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่บริหารสุสานไฮเกตในสมัยก่อน ก็คือปัญหาด้านการเงิน เคยมีช่วงหนึ่งที่บริษัทดังกล่าวล้มละลายและต้องปิดสุสานแห่งนี้ไปถึง 50 ปี ทำให้ไม่มีการบำรุงรักษาใด ๆ ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากถึงขึ้นมาเต็มพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อหลุมศพ และแผนผังโดยรวมของสุสาน
ต้นไม้น้อยใหญ่เติบโตขึ้นแทรกหลุมศพ
คุณจอห์นบอกว่า สุสานไฮเกตทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกยังมีพื้นที่ฝังศพเหลืออยู่อีกราว 300 หลุม ซึ่งน่าจะทยอยขายไปได้ในช่วง 10 ปีจากนี้ หลังจากนั้นงบประมาณดูแลจะขึ้นอยู่กับการเก็บค่าเข้าชมและขายของที่ระลึกเพียงอย่างเดียว
"Please tell others about us." คุณจอห์นกล่าวทิ้งท้าย หลังจากที่พาพวกเราทั้งกลุ่มเดินรอบ ๆ และให้ความรู้อย่างสนุกสนานมาตลอดชั่วโมงกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะที่นี่เป็นสถานที่ที่พิเศษมาก ๆ มีความร่มรื่น สงบ สวยงาม ขลัง ดูเต็มไปด้วยความทรงจำ มีพลังและแรงดึงดูดอย่างน่าประหลาด (ไม่น่ากลัวด้วย ขอเน้นจุดนี้)
หลังจากร่ำลากันแล้ว ฉันก็เดินสำรวจสุสานฝั่งตะวันออกต่อด้วยตัวเอง เพราะต้องการไปเห็นหลุมศพ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง กับตา
ทางเดินในสุสานฝั่งตะวันออก
หลุมศพ คาร์ล มาร์กซ์
หลุมศพสมัยใหม่ในฝั่งตะวันออก
มีการออกแบบแหวกแนวจากเดิม
ตามความชอบของผู้ตายหรือครอบครัวผู้ตาย
--------------------
และนี่คือเนินเขาไฮเกต
อีกมุมหนึ่งของลอนดอน
เป็นสถานที่ที่เก๋มาก
ReplyDeleteจริง ๆ ถ้าดูภาพในเว็บไซต์ http://highgatecemetery.org อาจจะอลังการกว่านี้ แต่นี่คืออยากใช้ภาพตัวเอง โชว์ความซัมซุง 555
Delete