March 30, 2016

London Episode 5: High-Rise


"It's an investigation of inequality and Britishness."

- Tom Hiddleston

--------------------

ทริปลอนดอนครั้งนี้ของหนอเป็นทริปตะลุยดูละครเวที ก่อนไปได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้ 6 เรื่อง และสุดท้ายก็ได้ไปซื้อตั๋วหน้าโรงอีก 1 เรื่อง กลายเป็นว่า 10 วัน ได้ดูละครเวทีไป 7 เรื่อง แต่นอกจากนั้นยังมีตั๋วสุดพิเศษที่หนอจองไว้อีกก็คือ ตั๋วรอบก่อนฉายจริงทั่วประเทศ (อังกฤษ) ของหนังเรื่อง High-Rise โดยมีเซสชั่นถาม-ตอบกับผู้กำกับ เบน วีตลีย์ (Ben Wheatley) ปิดท้ายให้ด้วย

ก่อนจะเขียนอะไรต่อจากนี้ ขอออกตัวไว้เลยว่าบทความนี้มีสปอยล์ คือถ้ายังไม่ได้ดูก็น่าจะอ่านแล้วงงอยู่บ้าง แต่จะพอเห็นภาพว่าหนังเป็นยังไงมายังไง ถือเสียว่าเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าจะไปดูหรือไม่ก็แล้วกัน เมืองไทยนี่ได้ข่าวว่ากำหนดเข้าฉายคือต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง ไม่นานเกินรอ

สำหรับภาพตัดโปรโมตที่หลายคนให้ความสนใจ (ด้านบน) นั้น บอกเลยว่าในหนังมีอยู่แค่ไม่กี่วินาที ถ้าจะไปดูแค่นี้ไม่น่าจะคุ้ม หรือถ้าใครจะไปดูเพื่อฉากโป๊และฉากเซ็กส์ก็ตามสะดวก (ไม่รู้ของไทยเราตัดออกเยอะมั้ยนะ) แต่เนื้อหาวิพากษ์การเมือง/สังคมแบบนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบดู... สรุปกันตรง ๆ ว่า High-Rise ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน

คอลัมนิสต์นิตยสาร Total Film แนะนำว่า หนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบดู Shivers (ปี 1975) Fight Club (ปี 1999) และ Dredd (ปี 2012) ขณะที่ นิตยสารแจกฟรีของโรงหนังเครือ Picturehouse ก็บอกว่าเหมาะกับคนที่ชอบดูหนังแบบ Sightseers (ปี 2012) Under the Skin (ปี 2013) และ Inherent Vice (ปี 2014)

นายแพทย์ โรเบิร์ต แลง

ชาร์ลอตต์ เมลวิลล์

แอนโธนี รอยัล

ริชาร์ด ไวล์เดอร์

High-Rise เป็นนิยายที่ เจ. จี. บัลลาร์ด (J. G. Ballard) เขียนขึ้นเมื่อปี 1975 กล่าวถึงตึกระฟ้าที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกล้ำสมัย ดึงดูดให้ผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างฐานะทางสังคม เข้ามาพักรวมกันเป็นสังคมย่อย ๆ มีวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความแตกต่างของคนเหล่านี้บานปลายเป็นความแตกแยก?

ตัวหนังคุมโทนได้สม่ำเสมอดี บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้กระชับรวดเร็ว แต่ถ้าใครไม่ชินกับหนังอังกฤษอาจมีหาวนอนบ้าง เพราะโทนโดยรวมค่อนข้างราบเรียบ ไม่หวือหวาเรียกคะแนนอย่างหนังฮอลลีวูด สำหรับหนอ High-Rise คือหนัง Must-see นะ เพราะหนอโตมาอย่างเด็กรัฐศาสตร์ (วิพากษ์แม่งทุกอย่างในโลก) การได้ดูหนังแบบนี้เป็นการกระตุ้นต่อมรัฐศาสตร์ที่ดี

นี่พยายามไม่สปอยล์แล้วนะ ถัดจากนี้คือสปอยล์ของจริง...


"When I was your age, 
I was always covered in something. 
Mud. 
Jam. 
Failure."

- Dr. Robert Laing

ประโยคข้างต้นมาจากบทพูดของตัวละครเอกของเรื่อง (นายแพทย์ โรเบิร์ต แลง) โดยเขาย้ำว่าเพราะเหตุนี้ทำให้พ่อไม่ค่อยอยู่ใกล้ชิด ไม่ค่อยมายุ่งเท่าไร ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือในหลายซีนหลังจากนั้น แลงมักจะอยู่ในสภาพที่เปื้อนอะไรสักอย่างเสมอ ทั้งยังชอบปกปิดตัวเองด้วยเครื่องแต่งกายตลอดเวลา (เช่น การมีเซ็กส์โดยไม่ถอดเสื้อผ้าในหลายซีน) เหมือนกับว่านี่คือเครื่องมือป้องกันตัวไม่ให้ใครมายุ่ง เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดปลอดภัยใน High-Rise แห่งนี้ต่อไปได้



ที่ว่าอยู่รอดปลอดภัยนี่ก็เพราะบรรยากาศที่ผู้คนในตึกหันมาห้ำหั่นกันเอง ทำให้การใช้ชีวิตแบบปกติเริ่มเป็นไปได้ยาก จนกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย แลงเริ่มนอนไม่หลับ และเข้าสู่วังวนในการต่อสู้แบบเดิม ๆ ทุกวัน



นอกจากแลง ตัวละครที่โคจรอยู่รอบตัวเขาก็โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ละคนล้วนเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม/โลกแห่งความเป็นจริงทั้งสิ้น การดู High-Rise จึงถือเป็นประสบการณ์ดูหนัง-ตั้งคำถามไปในหัวอย่างไม่รู้จบจริง ๆ



แลงคือตัวแทนของผู้ชม ไม่เพียงแต่เราจะเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องผ่านสายตาแลงเท่านั้น แต่ด้วยความที่แลงเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่พยายามลอยตัวผ่านปัญหาระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง จึงทำให้ผู้ชมพลอยลุ้นไปด้วยได้ไม่ยาก ว่าแลงจะอยู่รอดหรือไม่? แล้วพวกเราเอง (ผู้ชม) จะอยู่รอดหรือไม่?



แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคงไม่หนักหนารุนแรงเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง ที่ตัวละครต่างโจมตีกันเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างเต็มปากหรือว่า ทุกคนในโลกปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอารยะ? แล้วความรุนแรงผิดมนุษย์มนาที่เห็นในข่าวทุกวันนี้นี่เล่า?





หลังจากฟาดฟันกันทั้งเรื่อง แลงก็ได้ใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปใน High-Rise ร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ที่รอดมาได้ และเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่คำถามของแฟน ๆ ในโรง ซึ่งหนึ่งในคำถามเหล่านั้นก็มีคำถามที่ฟังดูไม่ค่อยเข้าท่านักปนอยู่ด้วย



"Why don't they just leave?"
น้องผู้หญิงคนหนึ่งยกมือถาม

นี่มึงดูหนังไม่เข้าใจใช่ปะ?
หนอคิด

จำไม่ได้ว่าผู้กำกับตอบว่า "Because they're happy." หรือไม่ แต่เป็นคำตอบประมาณนี้แหละ ซึ่งน้องผู้หญิงคนที่ถามก็ยังสงสัยต่อไป "Just simply... that?" (เออสิ นี่มึงไม่เข้าใจจริง ๆ ใช่ปะ? - หนอคิด) แล้วผู้กำกับก็ยังยืนยันว่า "Yes." ทำเอาผู้ชมที่เหลือหัวเราะในความห้วนของแก

สิ่งที่หนออยากลุกขึ้นถามน้องคนนั้นกลับไปมากเลยก็คือ "Would you leave the UK?" เพราะนั่นเป็นสิ่งที่หนอตีความได้จากเนื้อเรื่อง (คนอื่นดูอาจไม่คิดอย่างนี้นะ อันนี้เป็นความคิดส่วนตัว)

เอาอย่างนี้นะ ถ้าเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเห็นตึกเป็นตึก ก็จะไม่ได้อะไรจากหนังเลย สำหรับหนอแล้ว ตึกระฟ้าใน High-Rise เป็นตัวแทนของสังคมขนาดใหญ่กว่านั้น จะเป็นชุมชนเมือง จังหวัด หรือประเทศ ก็เอาไปแทนค่าได้หมด ไม่ว่ามันจะพังจนไม่รู้จะพังยังไงแล้ว เราก็ต้องทนอยู่ต่อไป การเดินออกจากสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ ๆ คิดจะทำก็ทำ

ดูคลิปตัวอย่างนาทีที่ 1:03 - 1:06 ...


"Prone to fits of mania, narcissism and power failure."

Power failure ในที่นี้คือปัญหาไฟฟ้าในตึกดับบ่อย ๆ นั่นแหละ แต่มันจะแค่นั้นหรือเปล่า? หรือ Power ตัวนี้จะหมายถึงขั้วอำนาจ (ที่กำลังจะถูกโค่น - อย่างที่จะเห็นได้ในตอนท้าย ๆ ของหนัง) ด้วย?

หรือการจะทนอยู่ต่อไปในสังคมให้ได้นั้น เราต้องกำจัดขั้วอำนาจที่ไม่ชอบธรรมออกไปให้ได้ด้วย?

และการอยู่รอดเพื่อที่จะทนอยู่ต่อไปในสังคมที่ว่า ก็ต้องใช้วิธีทำตัวให้ "เปรอะเปื้อน" อะไรสักอย่างเหมือนแลง ให้ความเปรอะเปื้อนนั้น ให้เสื้อเชิ้ต-สูท-เนกไท เป็นเกราะกำบังอะไรบางอย่าง

ให้เราอยู่รอด... ได้นานกว่าสังคมที่ล้มเหลวนี้...

--------------------

** ส่งท้าย **

เครื่องแต่งกายนักแสดง จัดแสดงที่โรงหนัง Picturehouse Central

โรงหนัง Curzon Soho ติดสติกเกอร์โปรโมตรอบโรงเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้จะบอกว่า...
ไปดู High-Rise ก็เถอะนะ
หนังแบบนี้นาน ๆ มี (เข้าฉายบ้านเรา) ที

March 29, 2016

London Episode 4: BFI

"ชอบบล๊อกที่หนอเรียกตัวเองว่า 'หนอ' มากกว่า"
เป็นฟีดแบ็กที่ได้รับมากกว่าหนึ่งครั้ง
จากคนอ่านมากกว่าหนึ่งกลุ่ม

ตั้งแต่โพสต์นี้ไป
หนอเรียกตัวเองว่า "หนอ"
เหมือนเวลาพูดปกติ ก็แล้วกันนะ

--------------------


"Talking about dreams is like talking about movies, since the cinema uses the language of dreams; years can pass in a second and you can hop from one place to another. It's a language made of image. And in the real cinema, every object and every light means something as in a dream."

- Federico Fellini
--------------------

ตั้งแต่เล็กจนโต หนอคุ้นเคยแต่กับหนังฮอลลีวูดที่ถูกเลือกซื้อเข้ามาฉายในเมืองไทย จนหลงคิดไปว่าฮอลลีวูดคือทั้งหมดของ "หนังฝรั่ง" ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย

หนึ่งในอุตสาหกรรมหนังดีที่คนไทยไม่ค่อยได้เสพ แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้ฮอลลีวูดก็คือ อุตสาหกรรมหนังอังกฤษ ที่มีจังหวะจะโคนเป็นเอกลักษณ์ มีความเนิบช้า และสื่อสารกับผู้ชมในช่วงที่ไม่มีบทพูดได้อย่างดี

สถานที่หนึ่งที่หนอต้องแวะให้ได้ในทริปลอนดอนครั้งนี้ก็คือ สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute - BFI) เพราะอยากไปเห็นว่าองค์กรการกุศลที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องศิลปะแขนงนี้โดยเฉพาะนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร

BFI ตั้งขึ้นในปี 1933 (83 ปีที่แล้ว) มีหน้าที่รวบรวม จัดจำหน่าย และให้ทุนสร้างหนัง ตลอดจนจัดงานเทศกาลโปรโมตหนังธีมต่าง ๆ และสนับสนุนการศึกษาวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง โดยมีหอจดหมายเหตุที่ใช้จัดเก็บหนังอังกฤษทรงคุณค่า ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้ต้องมีการจัดระดมทุนและอาศัยผู้บริจาครายย่อยอยู่บ่อยครั้ง

ป้ายรถเมล์ข้างอาคาร BFI - มองเห็น London Eye ด้วย

หนอนั่งรถใต้ดินไปลงสถานี Waterloo ที่มีคนพลุกพล่าน แล้วก็เดินต่อตามป้ายบอกทางริมถนน จนมาถึงส่วนที่เป็นโรงละครแห่งชาติ (National Theatre) และ BFI ซึ่งภายในมีห้องฉายหนัง ห้องสมุด และร้านค้าที่มีแต่สินค้าเกี่ยวกับหนังมากมาย

ถนนลอดใต้ทางยกระดับ ระหว่างทางไป BFI

ตั้งแต่ปี 2012 BFI ได้จัดโครงการ Film Forever ขึ้น โดยเป็นโครงการ 5 ปี เพื่อสนับสนุนหนังอังกฤษโดยเฉพาะ มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศ และส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นต่อไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีหนังฟอร์มเล็กจำนวนมากที่สร้างขึ้นได้เพราะงบประมาณจาก BFI ซึ่งบางส่วนก็กลายเป็นชื่อที่แฟนหนังชาวไทยคุ้นหูอยู่บ้าง ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ก็เช่น The Lobster, 45 Years, Brooklyn และ Suffragette เป็นต้น

Suffragette

"Whether it's Fish Tank, or Shame, or Suffragette, there are so many uniquely British stories. And without the BFI, they wouldn't be told."

- Tom Hiddleston

National Theatre

เมื่อเดินเข้ามาอยู่ท่ามกลางอาคารแห่งศิลปะการแสดง ทั้งโรงละครแห่งชาติและ BFI และมองดูพื้นที่โดยรอบแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศนี้เขาให้ความสำคัญกับ "ศิลปะ" จริง ๆ เพราะทั้งหมดนี้คือพื้นที่ที่ยังมีชีวิต ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างผุพัง หรือขาดคนดูแล ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนเสพศิลปะที่ตนชื่นชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และสถานที่เหล่านี้ก็ยังคงมีผู้สนใจแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

ศิลปะเป็นตัวบ่งบอกถึงจิตวิญญาณของคนในสังคมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี สังคมไหนเปิดรับอะไร ถ่ายทอดชิ้นงานออกมาลักษณะใด เสียงตอบรับต่อชิ้นงานเหล่านั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้คืออัตลักษณ์ของสังคม

แน่นอนว่า การไม่เปิดรับ การไม่ถ่ายทอดชิ้นงาน และเสียงตอบรับที่ไม่เป็นธรรมต่อชิ้นงานที่มีคุณภาพ ก็บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของสังคมด้วยเช่นกัน สังคมที่ปิดกั้นการเจริญเติบโตของศิลปะ เป็นสังคมที่ไม่สร้างสรรค์ และจะจมอยู่ในวังวนความไม่สร้างสรรค์ของตนต่อไปเรื่อย ๆ

ป้าย BFI Film Forever

ทางเข้าอาคาร BFI

นิตยสาร Sight & Sound ฉบับล่าสุด

BFI มีนิตยสารรายเดือนชื่อ Sight & Sound (ร้านหนังสือบางแห่งนำเข้ามาวางขายในเมืองไทยด้วย - ราคา 395 บาท) วางขายใน BFI Shop พร้อมให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อในราคา 4.50 ปอนด์ นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารหนังที่น่าสนใจอีกหลายหัว ซึ่งหนึ่งในฉบับที่เตะตาแบบจัง ๆ เลยก็คือ...

Film Comment ปก เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หนอหยิบนิตยสารทั้งสองเล่มขึ้นมาใส่ตะกร้า จากนั้นก็เดินดูหนังสือและดีวีดีต่ออีกสักครู่ เลือกดีวีดีสารคดีสงครามและหนังสือที่น่าสนใจลงตะกร้าใบเดิม แล้วจึงหยิบโปสการ์ดสี่ห้าใบรวมไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ทั้งหมดนี้เป็นการซื้อของครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มาเที่ยวลอนดอน (และก็ดูจะเป็นการปรนเปรอตัวเองที่ค่อนข้างไร้สาระ) แต่หนอมั่นใจว่า นอกเหนือจากต้นทุนสิ่งพิมพ์ส่วนที่รับมาขายแล้ว เงินที่เหลือจะถูกนำไปให้เพื่อศิลปะอย่างแท้จริง

ศิลปะแบบที่แถวบ้านเรายังไม่มีให้สนับสนุนเท่าไรนัก...

March 28, 2016

London Episode 3: Breakfast

The Wolseley

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เลือกพักกับโรงแรม บริการอาหารเช้าที่รวมอยู่กับค่าห้องพักอาจทำให้ไม่อยากออกไปสรรหาอาหารข้างนอกเท่าไรนัก แต่ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศของลอนดอนจริง ๆ ล่ะก็ แนะนำว่า "ร้านอาหาร" จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทีเดียว

หนึ่งในร้านที่เสิร์ฟอาหารเช้าที่ดีที่สุดของที่นี่ก็คือ The Wolseley แถวสถานี Green Park ซึ่งมี Eggs Benedict เป็นเมนูขึ้นชื่อ โดยเลือกได้ว่าจะรับไข่ 1 หรือ 2 ฟอง วันที่ไปฉันสั่ง Smoked Salmon and Scrambled Eggs

Smoked Salmon and Scrambled Eggs

วิธีจัดอาหารลงจานของเขาเรียบง่ายดี ขณะที่บรรยากาศร้านก็หรูหราแต่เป็นกันเอง เหมาะกับเช้าสบาย ๆ ที่ไม่เร่งรีบ แต่สำหรับนักชิมที่อยากลองอาหารจานหลักที่ไม่ใช่มื้อเช้า ที่นี่ก็มีอีกหลายเมนูให้เลือกเช่นกัน ทั้งยังมีคลิปสอนทำอาหารจานเด็ดในยูทูบด้วย

หัวหน้าเชฟสอนทำ Kedgeree

The Wolseley มีลูกค้าแน่นเกือบจะตลอด จึงควรจองล่วงหน้าทุกครั้ง สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในอังกฤษ ระบบจองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ร้านนั้นสะดวกสบายมาก สามารถจองล่วงหน้าได้ตามวันและเวลาที่ต้องการ หรือใครที่อยากลองเมนูประมาณนี้ ในบรรยากาศที่โปร่งสบายกว่า ร้านพี่ร้านน้องอย่าง The Delaunay ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี

The Delaunay อยู่ใกล้สถานี Covent Garden ตรงบริเวณ Drury Lane ท่ามกลางโรงละครชื่อดัง ภายในร้านดูหรูหราอบอุ่น และไม่ได้มีลูกค้าพลุกพล่านนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะจองล่วงหน้าเสียหน่อย ยิ่งถ้าเป็นวันสุดสัปดาห์ยิ่งต้องวางแผนดี ๆ

Eggs Arlington

ฉันคงเป็นนักชิม "สายไข่" อย่างที่หลายคนบอกไว้จริง ๆ เพราะอาหารเช้าที่สั่งมักจะประกอบด้วยไข่เป็นหลัก ไม่เคยคิดจะสั่ง Full English Breakfast ด้วย เพราะไม่ชอบวัตถุดิบหลายอย่างในนั้น ซึ่งร้านนี้ก็ทำ Eggs Arlington ออกมาได้กลมกล่อมลงตัวมาก ทานเป็นมื้อเช้าคู่กับกาแฟดี ๆ สักถ้วย ก็จะถือเป็นการเริ่มต้นวันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

Corn Cakes with Spinach, Poached Eggs and Sriracha Hollandaise

ด้านใน Poached Eggs ที่ปรุงมากำลังดี

พูดถึงเมนูไข่ก็ต้องพูดถึงร้าน EGGBREAK แถว Notting Hill Gate ที่มีทั้งอาหารจานไข่ จานไม่ไข่ และชาชั้นเลิศหลายชนิด ฉันไปทานวันที่ทางร้านเปิดทำการอย่างเป็นทางการได้ไม่ถึงสัปดาห์ ด้วยความที่ไปเช้ามาก คนเลยยังไม่ค่อยแน่น มีเวลาดูเมนู สั่ง และละเลียดอาหารตรงหน้าได้เต็มที่ ไม่กดดันเท่าไร

บรรยากาศในร้านน่ารักและอบอุ่นมาก ให้อารมณ์เหมือนห้องนั่งเล่น เหมือนบ้านเพื่อนยังไงไม่รู้ ใครที่ได้มาต้องอยากกลับมาอีกแน่ ๆ และถ้าไม่ใช่คนชอบเมนูเบา ๆ ที่นี่ก็ยังเปิดไปจนถึงมืดค่ำ จะแวะมาลองสเต๊กฉ่ำ ๆ สักสองสามทุ่มก็ยังได้

ชา Turkish Lavender จาก Le Benefique

เป็นชาที่มาทั้งก้าน (Stem)

Le Benefique ขึ้นชื่อว่าปลูกชาอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน

Ginger & White เป็นอีกร้านที่ประทับใจสุด ๆ เพราะกาแฟอร่อย ส่วนอาหารก็รสชาติดีทั้งคาวหวาน มี 2 สาขาให้เลือกคือ Hampstead และ Belsize Park ซึ่งขนาดไม่ใหญ่และคนเต็มง่ายมากทั้งสองแห่ง เรียกว่าต้องอาศัยดวงกันสักหน่อย เพราะทางร้านไม่มีระบบให้จองที่นั่ง

Scrambled Eggs with Free Range Bacon & Flat White

Scrambled Eggs with Smoked Salmon

ถ้าไม่ใช่คน "สายไข่" ที่นี่ก็มีอาหารเช้าคลีน ๆ อย่าง Homemade Granola หรือ Superfood Porridge of Oats, Raisins & Chia Seed ให้สั่งด้วย นอกจากนี้ พวกมัฟฟิ่นต่าง ๆ และเค้กแครอทก็ขึ้นชื่อมากทีเดียว ใครจะแวะมาชิมแค่ของหวานและกาแฟก็ไม่ผิดกติกา ถือว่ามาถึงที่แล้ว คุ้มแล้ว

Chocolate Brownie with Berries & White Chocolate

แก้วกลับบ้านของ Ginger & White

นอกจากทั้งสี่ร้านนี้แล้ว ลอนดอนยังมีคาเฟ่/ร้านกาแฟอีกจำนวนมาก ที่เสิร์ฟอาหารเช้า/เบเกอรี่ชั้นดีให้ลูกค้าในราคาไม่แพง (ตามมาตรฐานอังกฤษนะ) ใครที่เป็นคอกาแฟควรไปลองทั้ง Monmouth Coffee และ Timberyard ซึ่งร้านหลังนี่มีมากกว่าหนึ่งสาขา คนแน่นอยู่เรื่อย ๆ สั่งแก้วกลับบ้านน่าจะง่ายกว่า

--------------------

น่าเสียดายที่ทริปนี้ไม่ได้นั่งแช่ตามร้านกาแฟ
เลยไม่ได้รีวิวคาเฟ่ชื่อดังอย่างที่เคยนึกอยากทำ
ไว้โอกาสหน้าถ้าโชคดีได้เที่ยวลอนดอนอีก
จะไม่พลาดตระเวนชิมแน่

March 25, 2016

London Episode 2: Highgate Cemetery

ประตูทางเข้าสุสานไฮเกตฝั่งตะวันตก

"It's a good address to be dead."
เมื่อสุสานกลายเป็นพื้นที่อันน่ารื่นรมย์

--------------------

เมื่อโพสต์ที่แล้ว ฉันพูดถึงบทสนทนากับคุณจอห์น ไกด์อาสาของสุสานไฮเกต ไปแล้ว คราวนี้มาพูดถึงตัวสุสานไฮเกตกันเลยดีกว่า ฉันอ่านเจอในหนังสือนำเที่ยวเล่มหนึ่งว่าสุสานแห่งนี้เป็นสถานที่แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว จึงจัดการเข้าเว็บไซต์ จองตั๋วผ่านประตู และพรินต์แผนที่วิธีไปออกมาให้เรียบร้อย

ก่อนเดินทางได้ปรึกษากับเพื่อน ๆ ทั้งที่เคยเรียนและที่ไปเที่ยวอังกฤษบ่อย ๆ พบว่าไม่มีใครเคยแวะไปที่นี่เลย ทำให้การเดินทางรอบนี้ยิ่งน่าตื่นเต้นสำหรับฉัน เพราะเป็นการไปเพื่อค้นพบและกลับมาบอกเล่าอย่างแท้จริง ถือเป็นการเดินทางที่พิเศษ

ทางเดินในสวนวอเตอร์โลว์

สุสานไฮเกตซ่อนตัวอยู่หลังสวนวอเตอร์โลว์ (Waterlow Park) บนเนินเขาไฮเกต (Highgate Hill) เดินทางโดยรถใต้ดินลงที่สถานี Archway แล้วจะนั่งรถเมล์ต่อหรือเดินเท้าขึ้นเขาเองก็ได้ เมื่อถึงสวนวอเตอร์โลว์ให้เดินไปตามทางจะเจอประตูทะลุไปยังสุสาน แบ่งเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก

ฝั่งตะวันออกเป็นส่วนที่ผู้ชมสามารถเดินเที่ยวเองได้ โดยไม่จำกัดเวลา มีค่าเข้าชม 4 ปอนด์ สำหรับผู้ใหญ่ ขณะที่ฝั่งตะวันตกต้องเข้าเป็นรอบและมีไกด์ไปด้วยเสมอ จำกัดวันธรรมดาวันละ 1 รอบ เปิดให้จองออนไลน์ เสาร์อาทิตย์มีทัวร์ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่ 11 โมง ถึง 4 โมงเย็น เปิดขายตั๋วหน้างานเวลา 10.45 น. ของวันนั้น ๆ โดยมีค่าเข้าชม 12 ปอนด์ สำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถเข้าชมฝั่งตะวันออกได้ด้วย

ทางเดินไปยังพื้นที่ฝังศพ

บันไดสู่ "ปลายทางที่มองไม่เห็น"

สุสานไฮเกต เปิดทำการในปี 1839 (177 ปีมาแล้ว) ปัจจุบันมีบอร์ดบริหารดูแล และใช้ค่าผ่านประตูที่ได้รับ บวกกับการขายพื้นที่หลุมศพที่ยังเหลือ เป็นงบประมาณในการบำรุงรักษา

คุณจอห์นบอกว่า ที่นี่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่แห่งการเดินทาง "ไปยังสถานที่ที่มองไม่เห็น" ไปสู่โลกแห่งความตาย ทางเดินถูกวางผังให้คดเคี้ยว บันไดถูกออกแบบให้มองแล้วไม่เห็นขั้นสุดท้าย จนกว่าจะเดินขึ้นไปถึงแล้ว

น่าแปลกดีที่ที่นี่ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนป่าช้าทั่วไป แต่กลับร่มรื่นเหมือนสวนหย่อม สวนสาธารณะ เสียมากกว่า ซึ่งหลังจากที่ฟังบรรยายก็พบว่าเป็นเช่นนั้น

สมัยก่อนหนุ่มสาวใช้ที่นี่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งที่มีการฝังศพมาตั้งแต่ยุคนั้น และด้วยความที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้หญิงสาวสามารถเดินทางมาได้เอง โดยไม่ต้องมีคนมาเป็นเพื่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ สุสานไฮเกตจึงกลายเป็นแหล่งนัดพบของชายหนุ่มหญิงสาวยุควิกตอเรียไปโดยปริยาย

ไกด์กำลังบรรยายลักษณะหลุมศพอย่างตั้งใจ

ช่วงศตววรรษที่ 19 ลอนดอนดำเนินการสร้างสุสานทั้งหมด 7 แห่ง เรียกรวมว่า Magnificent Seven โดยไฮเกตเป็นแห่งที่สาม และได้รับความนิยมมากที่สุด

"It's a good address to be dead." คุณจอห์นบอก "ทุกคนต้องการถูกฝังที่นี่" และแน่นอนว่าสุสานแห่งนี้มีร่างคนดังในยุคนั้น (และยุคหลัง) จำนวนมาก "ทุกคนที่ถูกพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่ที่นี่หมด" คงเพราะความน่ารื่นรมย์ สถาปัตยกรรม ความห่างไกลจากใจกลางลอนดอน ห่างไกลจากชุมชนแออัด และโรคระบาดอื่น ๆ

ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) นักเขียนชื่อดัง ชอบไฮเกตมากเสียจนเลือกที่จะฝังศพสมาชิกครอบครัวและคนรอบตัวที่นี่ น่าเสียดายที่ตัวเขาไม่ได้ถูกฝังที่นี่ด้วย แต่กลับถูกฝังไว้ที่มุมนักประพันธ์ ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ แทน

ไม่มีอะไรที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ สัญลักษณ์ต่าง ๆ บนแต่ละหลุมศพบ่งบอกถึงความเป็นมาของบุคคลนั้น และวัฒนธรรมของยุควิกตอเรียได้อย่างดี

เช่นในภาพด้านบน รูปเกือกม้าที่มุมล่างซ้าง บนเสามุมหลุมศพ บ่งบอกว่าเจ้าของหลุมเกี่ยวข้องกับรถม้า เขาคือ เจมส์ วิลเลียม เซลบี (James William Selby) คนที่ขับรถม้าได้เร็วที่สุด เป็นเหมือนแชมป์ฟอร์มูลา วัน ในยุคนี้นั่นเอง

ส่วนเสาหักครึ่งในด้านขวาของรูป เป็นของหญิงที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (38 ปี) จึงเป็นเสาที่ไม่เต็ม

ทางเดินในสุสานฝั่งตะวันตก

หลุมศพของสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง

หลุมศพของ จอร์จ วูมบ์เวลล์
นักจัดแสดงละครสัตว์ชื่อดัง
ด้านบนเป็นรูป เนโร สิงโตของเขา

ที่นี่เผชิญปัญหาไม่ต่างกับสุสานอื่น ๆ มีการขโมยศพไปใช้เป็น "อาจารย์ใหญ่" หลายครั้ง ด้วยความที่โรงเรียนแพทย์ผลิตนักศึกษาแพทย์เพิ่มมากขึ้น จนจำนวนคนตายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ช่องเก็บศพหลายช่องต้องต่อเติมประตูเปิด-ปิดและทำล็อกแน่นหนา แต่กระนั้นก็ยังมีการพังประตูและขโมยศพไปได้ (ด้านในอาคารมืดมาก ถ่ายภาพมาไม่ได้)

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่บริหารสุสานไฮเกตในสมัยก่อน ก็คือปัญหาด้านการเงิน เคยมีช่วงหนึ่งที่บริษัทดังกล่าวล้มละลายและต้องปิดสุสานแห่งนี้ไปถึง 50 ปี ทำให้ไม่มีการบำรุงรักษาใด ๆ ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากถึงขึ้นมาเต็มพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อหลุมศพ และแผนผังโดยรวมของสุสาน

ต้นไม้น้อยใหญ่เติบโตขึ้นแทรกหลุมศพ

คุณจอห์นบอกว่า สุสานไฮเกตทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกยังมีพื้นที่ฝังศพเหลืออยู่อีกราว 300 หลุม ซึ่งน่าจะทยอยขายไปได้ในช่วง 10 ปีจากนี้ หลังจากนั้นงบประมาณดูแลจะขึ้นอยู่กับการเก็บค่าเข้าชมและขายของที่ระลึกเพียงอย่างเดียว

"Please tell others about us." คุณจอห์นกล่าวทิ้งท้าย หลังจากที่พาพวกเราทั้งกลุ่มเดินรอบ ๆ และให้ความรู้อย่างสนุกสนานมาตลอดชั่วโมงกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะที่นี่เป็นสถานที่ที่พิเศษมาก ๆ มีความร่มรื่น สงบ สวยงาม ขลัง ดูเต็มไปด้วยความทรงจำ มีพลังและแรงดึงดูดอย่างน่าประหลาด (ไม่น่ากลัวด้วย ขอเน้นจุดนี้)

หลังจากร่ำลากันแล้ว ฉันก็เดินสำรวจสุสานฝั่งตะวันออกต่อด้วยตัวเอง เพราะต้องการไปเห็นหลุมศพ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง กับตา

ทางเดินในสุสานฝั่งตะวันออก

หลุมศพ คาร์ล มาร์กซ์

หลุมศพสมัยใหม่ในฝั่งตะวันออก
มีการออกแบบแหวกแนวจากเดิม
ตามความชอบของผู้ตายหรือครอบครัวผู้ตาย


ดอกไม้แสดงความรำลึกถึงผู้ตาย

--------------------

และนี่คือเนินเขาไฮเกต
อีกมุมหนึ่งของลอนดอน